หลวงตาพวง สุขินทริโย

วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

20. บุกเบิกถ้ำขามกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร

ในพรรษาที่ 6 ปี พ.ศ. 2496 ขณะที่พระพวง สุขินทริโย อยู่จำพรรษากับหลวงปู่ฝั้นที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ หลวงปู่ฝั้นได้เล่าให้ฟังว่า ระหว่างที่ท่านนั่งสมาธินั้น ท่านได้นิมิตเห็นสถานที่แห่งหนึ่งลักษณะคล้ายถ้ำ อยู่ทางทิศตะวันตกของเทือกเขาภูพาน ในถ้ำมีแสงสว่างไปทั่วถึง มีลมพัดเย็นสบาย อากาศดี สงบวิเวก เหมาะกับการเจริญสมาธิภาวนาเป็นยิ่งนัก

เมื่อออกพรรษา พระอาจารย์ฝั้นพร้อมด้วยพระพวง สุขินทริโย พระสุพล และสามเณรสุวงค์ รวม 4 รูปได้ออกเดินทางไปค้นหาถ้ำที่ปรากฏในนิมิตของหลวงปู่ฝั้น โดยเดินทางไปพักที่วัดป่าอุดมสมพร เพื่อพาคณะญาติโยมบำเพ็ญกุศลแก่บุพพาการี เมื่อเสร็จจึงออกเดินทางไปพักที่วัดป่ากลางโนนภู่ (วัดป่าบ้านภู่) เพื่อบำเพ็ญกุศลครบรอบวันฌาปนกิจของพระอาจารย์ภู่ ธัมมทินโน จากนั้นได้เดินทางไปพักที่ป่าช้าข้าง ๆวัดไฮ่ 2 คืน แล้วเดินทางไปยังบ้านคำข่า

พอไปถึงบริเวณดังกล่าว ญาติโยมได้พาพระอาจารย์ฝั้นและคณะไปพักในป่าข้างหมู่บ้าน ชาวบ้านเรียกว่า “ดงวัดร้าง” โดยพระอาจารย์ฝั้นและคณะได้ปักกลดอยู่ใกล้ๆหมู่บ้านเชิงเขาภูพานประมาณครึ่งเดือนเพื่อค้นหาถ้ำตามนิมตของท่าน เมื่อได้สอบถามญาติโยมในหมู่บ้านนี้ว่า ภูเขาแถบนี้มีถ้ำที่มีลักษณะดังกล่าวบ้างหรือไม่ พวกญาติโยมบอกว่ามีหลายแห่ง ทั้งถ้ำเล็กและถ้ำใหญ่ ในวันต่อมาพระอาจารย์ฝั้นได้พาญาติโยมขึ้นไปดูถ้ำ แต่ไม่ตรงกับในนิมิตสักแห่งเดียว พระอาจารย์ฝั้น จึงได้กลับลงมาพักที่หมู่บ้าน

ต่อมาพวกญาติโยมได้บอกกับพระอาจารย์ฝั้นว่ายังมีอีกถ้ำหนึ่งอยู่บนยอดเขา เป็นถ้ำใหญ่มากชาวบ้านเรียกว่า “ถ้ำขาม” เมื่อถึงวันสงกรานต์ ชาวบ้านจะขึ้นไปทำบุญ และสรงน้ำพระบนถ้ำนั้น เป็นประจำทุกปี แต่ถ้ำนี้อยู่ท่ามกลางป่ารกชัฏปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ หนทางไปสู่ถ้ำก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก

เมื่อทราบตำแหน่งของถ้ำแล้วหลวงปู่ฝั้นได้ชักชวนชาวบ้านขึ้นไปบุกเบิก ซึ่งต้องเตรียมข้าวปลาอาหารเพื่อไปหุงหาและเตรียมค้างคืนในป่า เพราะระยะทางค่อนข้างไกล เวลาพลบค่ำชาวบ้านไม่กล้าเดินทางกลับ เพราะกลัวเสือจะมาคาบไปกินระหว่างทาง ในวันรุ่งขึ้นชาวบ้านได้พาพระอาจารย์ฝั้นเดินทางไปยังถ้ำขาม เป็นเส้นทางที่ลำบากต้องปีนไต่ไปตามไหล่เขาเต็มไปด้วยขวากหนาม เมื่อขึ้นไปถึงถ้ำขาม พระอาจารย์ฝั้น ได้เดินสำรวจดูรอบบริเวณ แล้วท่านได้เอ่ยปากว่าถ้ำนี้แหละที่ได้นิมิตเห็น ท่านจึงให้ญาติโยมทำแคร่นอนขึ้นในถ้ำเพื่อจะได้พักค้างคืนที่นี่ แต่ด้วยความไม่พร้อมท่านจึงพาคณะลงมาพักที่หมู่บ้านที่เดิม และพร้อมให้ญาติโยมทำทางลงมาด้วยจะได้ขึ้นได้สะดวกในวันหลัง

เช้าวันรุ่งขึ้นของวันใหม่ เมื่อพระอาจารย์ฝั้นได้ฉันเสร็จเรียบร้อย ได้เดินทางขึ้นถ้ำขามอีกครั้งพร้อมญาติโยมและเสบียงอาหาร เพราะถ้ำขามอยู่ห่างจากหมู่บ้านมากและการออกบิณฑบาตไม่สะดวก การขึ้นถ้ำขามในครั้งนี้ พระอาจารย์ฝั้นพร้อมด้วยพระพวงสุขินทริโย และคณะได้เตรียมการเป็นที่เรียบร้อย พร้อมที่จะพักอยู่บนถ้ำขามและในเดือนมีนาคมปีต่อมา (พ.ศ. 2497) พระอาจารย์ฝั้น ได้จำพรรษาอยู่บนถ้ำขาม

เมื่อออกพรรษาพระอาจารย์ฝั้นได้พาญาติโยมชาวบ้านพัฒนาถ้ำขามและตัดถนนระหว่างถ้ำขามกับหมู่บ้านเพื่อให้สามารถเดินทางไปมาได้สะดวกมากขึ้น พอถึงหน้าแล้งในปี พ.ศ. 2498 พระอาจารย์ฝั้น ได้ชวนชาวบ้านและญาติโยมช่วยกันสร้างศาลาโรงธรรม กุฏี สระน้ำ จนเสร็จเรียบร้อย จนปรากฏเห็นอยู่ทุกวันนี้ และในเวลาต่อมาถนนได้เริ่มต้นสร้างขึ้นถ้ำขามในปี พ.ศ. 2507 ทำให้รถยนต์ได้วิ่งขึ้นถ้ำขามได้สะดวกจนถึงทุกวันนี้

บริเวณปากถ้ำแห่งนี้มีต้นมะขามใหญ่เกิดขึ้น จึงเป็นที่มาของชื่อถ้ำแห่งนี้ว่า "ถ้ำขาม" หลวงตาพวงเล่าให้ฟังถึงการไปบุกเบิกถ้ำขามในช่วงแรกนั้นว่า

"ตอนไปบุกเบิกครั้งแรกมีพระเณรไปด้วยกัน 4 รูป บริเวณนั้นเป็นบริเวณที่ทุรกันดารมาก มีหมู่บ้านห่างจากถ้ำประมาณ 5-6 กิโลเมตร ช่วงแรกๆก็ต้องอาศัยน้ำจากบ่อของชาวบ้านที่มาทำไร่พริกบนเขา ห่างจากถ้ำขามประมาณ 1 กิโลเมตร ต้องตัดกระบอกไม้ไผ่แล้วทะลุปล้อง ยาว 2-3 ปล้องทำเป็นกระบอกน้ำ สะพายหลังปีนลงเขาไปตักน้ำทุกวัน ใช้กระป๋องน้ำไม่ได้เพราะน้ำจะหกหมด เวลาสรงน้ำก็ต้องลงเขาไปที่บ่อน้ำดังกล่าว เวลาบิณฑบาตก็ต้องลงไปบิณฑบาตถึงเชิงเขา ต้องบุกป่าฝ่าดงลงไป ชาวบ้านจะส่งตัวแทนผลัดกันมาใส่บาตรบริเวณเชิงเขา ชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจนส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่พริก แต่ชาวบ้านมีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนายิ่งนัก ในวันพระ ชาวบ้านจะขึ้นไปที่ถ้ำขามเพื่อทำอาหารถวายและปฏิบัติธรรมอยู่บนถ้ำ"

หลวงตาเล่าให้ฟังต่อว่า

"เมื่อไปถึงครั้งแรก ก็ไปสร้างกุฏิชั่วคราวขึ้น โดยใช้ไม้ไผ่ ไม้ไร่แถว ๆ นั้น มาทำเป็นแคร่ บางส่วนก็ทำเป็นฝากันฝน ในช่วงหน้าแล้งถัดมาก็ได้ร่วมกับชาวบ้านช่วยกันสร้างศาลาและเสนาสนะต่าง ๆ ทำให้สะดวกสบายมากขึ้น ต่อมาก็สะกัดหินเป็นบ่อเก็บน้ำ ทำถังปูนไว้เก็บน้ำฝน ความเป็นอยู่ต่างๆก็ดีขึ้นเป็นลำดับ"

ศาลาใหญ่ที่สร้างขึ้นที่ถ้ำขามแห่งนี้ นับได้ว่าเป็นของที่พิสดารอย่างหนึ่ง ทั้งในแง่สถาปัตยกรรมและความศรัทธา กล่าวคือ ศาลาแห่งนี้กว้าง 10 เมตร ยาวประมาณ 20 เมตร ตั้งอยู่บนไหล่เขา ซึ่งมีโขดหินสูงบ้างต่ำบ้างต่างระดับกันไป เสาและต้นไม้ต่าง ๆ หลวงปู่ฝั้นเป็นผู้กะความยาวให้ตัด เสาแต่ละต้นมีขนาดความยาวไม่เท่ากัน พอทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็ยกเสาขึ้นตั้งโดยไม่ได้ฝังเสาลงไปในดินหรือก้อนหินเลย เมื่อเอาคานติดเข้าไป โครงสร้างก็ไม่คลอนแคลน ไม้ต่าง ๆ ที่เตรียมไว้ก็เหมาะลงตัว ไม่จำเป็นต้องตัดแต่งอีกเลย เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก

ศาลาทั้งหลังทำเสร็จด้วยความรวดเร็ว ศาลาหลังนี้ได้ใช้งานอยู่จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2518 หลวงปู่ฝั้นได้เปลี่ยนให้เป็นศาลาคอนกรีตทั้งหลัง สร้างเสร็จเรียบร้อยรวดเร็วด้วยความศรัทธาของญาติโยม การบุกเบิกถ้ำขามครั้งนั้น พระพวง สุขินทริโย เป็นผู้ได้รับความไว้วางใจจากหลวงปู่ฝั้นให้ช่วยพัฒนาสถานที่แห่งนี้จนสวยงาม เหมาะสำหรับเป็นสถานที่สัปปายะสำหรับผู้ที่แสวงหาความสงบในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

ปัจจุบันวัดถ้ำขามหรือภูขามตั้งอยู่ที่ อ.พรรณานิคม จังหวัดสกลนคร บนสันเขาภูพาน มีบรรยากาศร่มรื่นงดงาม นอกจากหลวงปู่ฝั้นที่เคยมาบุกเบิกและจำพรรษาที่นี่แล้ว ยังมีครูบาอาจารย์ในสายหลวงปู่มั่นองค์สำคัญ คือ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ที่ได้เคยมาจำพรรษาอยู่ ณ ที่นี้ จนกระทั่งละสังขาร บนวัดถ้ำขามแห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2537 และพุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันสร้างเจดีย์ที่บรรจุอัฐิธาตุของหลวงปู่เทศก์ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรม แบบเจดีย์จตุรัสมุข ตามแนวศิลปกรรมอีสานผสมกับอยุธยา ภายในประดิษฐานรูปหล่อสำริดหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี และพระบางจำลอง เพื่อเป็นที่ระลึกอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น