หลวงตาพวง สุขินทริโย

วันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2553

คำนำ

เมื่อครั้งที่ผมไปบุกเบิกสร้างโรงพยาบาลลืออำนาจ อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อปี พ.ศ. 2538 หลวงปู่หล้า เขมปัตโต แห่งภูจ้อก้อ ได้เมตตาเป็นองค์อุปถัมภ์โรงพยาบาล ในช่วงที่หลวงปู่หล้าอาพาธหนักก่อนจะมรณภาพนั้น ผมได้ขึ้นไปกราบท่านหลายครั้ง มีครั้งหนึ่งจำได้ว่าขณะที่กราบหลวงปู่หล้า ได้เห็นพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ผมสีขาวโพลน ผิวพรรณผุดผ่อง นั่งพับเพียบ สงบนิ่ง อยู่ใกล้ ๆ กับเตียงของหลวงปู่หล้า เกิดความรู้สึกประทับใจในพระเถระะผู้ใหญ่รูปนี้เป็นอย่างยิ่ง รู้สึกสัมผัสได้ถึงความเมตตา สงบ เย็น จากตัวท่าน แต่ก็ยังไม่ทราบว่าพระเถระผู้ใหญ่รูปนี้ท่านมีฉายาว่าอย่างไร มาจากไหน คงทราบแต่เพียงว่าเป็นพระเถระะผู้ใหญ่ ในสายพระกรรมฐาน

จนกระทั่งหลายปีผ่านไป ผมได้ย้ายไปทำงานในกระทรวงสาธารณสุข อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี มีโอกาสเดินทางไปประชุมที่โรงพยาบาลยโสธร อ.เมือง จ.ยโสธร จึงได้เห็นรูปของพระเถระผู้ใหญ่รูปนั้นติดอยู่ที่โรงพยาบาลและในที่สุดก็ทราบว่า ท่านคือ พระราชธรรมสุธี (พวง สุขินทริโย) เจ้าคณะจังหวัดยโสธรในขณะนั้นนั่นเอง จริง ๆ แล้วผมเคยได้ยินฉายาของท่านมานาน ตั้งแต่ทำงานอยู่ที่จังหวัดอำนาจเจริญแล้ว เพียงแต่ไม่เคยเห็นตัวจริงของท่านสักที

หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสไปกราบท่านอีกหลายครั้ง และได้ทราบว่าท่านเป็นลูกศิษย์ของทั้งหลวงปู่เสาร์ กันตสีโลและหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตอีกทั้งยังเคยพำนักและร่วมบุกเบิกถ้ำขามกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ซึ่งน้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้เป็นลูกศิษย์ของพ่อแม่ครูอาจารย์ทั้งสองรูป จึงได้กราบเรียนขออนุญาติเพื่อเขียนประวัติของท่านโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแผ่ ปฎิปทาและจริยาวัตรอันงดงามของพระเถระผู้ใหญ่ในสายกรรมฐาน เพื่อเป็นแบบอย่างแก่พุทธศาสนิกชนรุ่นหลังต่อไป

เนื้อหาในบล็อกเป็นการปรับปรุงครั้งที่ 2 ได้นำเนื้อหาในส่วนชีวประวัติของท่านมาเรียบเรียงใหม่ จากเค้าโครงเดิมของหนังสือ "สุขินทริยบูชา" ที่ข้าพเจ้าได้จัดทำขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2541 และได้เพิ่มเติม ในช่วงเหตุการณ์ที่ท่านอาพาธ การจาริกครั้งสุดท้าย จนกระทั่งมรณภาพ เพื่อให้ได้เนื้อหาที่สมบูรณ์ที่สุด แล้วเสร็จเมื่อ วันที่ 20 มิถุนายน 2553 ที่ผ่านมานี้ โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง คือ ชีวประวัติของท่าน ที่ได้เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์หลวงตาพวง สุขินทริโย ช่วงการอาพาธ และการจาริกครั้งสุดท้ายของท่าน ส่วนที่สอง คือเรื่องพระครูฟ้ามืด ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่หลวงตาพวงท่านบันทึกไว้เองในช่วงจำพรรษาอยู่ที่วัดศรีฐานใน ส่วนที่สาม เป็นพระธรรมเทศนาของท่าน ตามลำดับ

ขออานิสงส์แห่งการทำกุศลในครั้งนี้ส่งผลให้ทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยว เจริญยิ่งๆขึ้นในธรรมต่อไป

พงศธร พอกเพิ่มดี
20 มิถุนายน 2553

วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

1. ชาติภูมิ

พระเทพสังวรญาณ หรือ หลวงตาพวง สุขินทริโย มีนามเดิมว่า พวง ลุล่วง เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 ตรงกับวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 ปี เถาะ ณ บ้านเลขที่ 8 หมู่ 5 บ้านศรีฐาน ตำบลศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ซึ่งเดิมคือ บ้านศรีฐาน ตำบลกระจาย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดอุบลราชธานี ท่านเป็นบุตรคนที่ 4 ของนายเนียม และนางบัพพา ลุล่วง มีพี่น้องร่วมบิดา มารดา จำนวน 6 คน เป็นชาย 3 คนและหญิง 3 คน ดังนี้

1) นายจันทา ลุล่วง อดีตกำนัน ต.กระจาย อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร (ถึงแก่กรรม)

2) นางผา ละม่อม (ถึงแก่กรรม)

3) นางสา วันเที่ยง (ถึงแก่กรรม)

4) พระเทพสังวรญาณ (หลวงตาพวง สุขินทริโย)

5) หลวงปู่สรวง สิริปุญโญ วัดศรีฐานใน ต.ศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร

6) นางจำปา ป้องกัน (ถึงแก่กรรม)

บ้านศรีฐานในอดีตนั้นสันนิษฐานว่า เป็นชุมชนที่อพยพย้ายถิ่นฐานติดตามพระวอและพระตาจากเมืองเวียงจันทน์ กรุงศรีสัตนาคนหุต พระวอและพระตาทั้งสองคนเป็นพี่น้องกัน เดิมเป็นเสนาบดีของราชสำนักกรุงศรีสัตนาคนหุต ในช่วงปลายรัชสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๒ พระวอและพระตามีส่วนช่วยให้พระเจ้าสิริบุญสารได้เป็นกษัตริย์ และได้รับตำแหน่งเป็นเสนาบดี ต่อมาเกิดการขัดแย้งด้วยพระเจ้าสิริบุญสารระแวงว่า พระวอและพระตาจะชิงราชสมบัติ จึงขอลูกสาวไปเป็นนางห้าม พระวอและพระตาไม่ยอมถวายและคิดว่าจะอยู่ในเมืองศรีสัตนาคนหุตอย่างไม่เป็นสุข จึงชวนสมัครพรรคพวกอพยพครอบครัวบ่าวไพร่จากเวียงจันทน์ ไปอยู่บ้านหินโงม เมืองหนองบัวลุ่มภู อันเคยเป็นเมืองของเจ้าปางคำบิดาของท่าน

พระวอและพระตานั้นเป็นข้าราชการที่ดี เอาใจใส่ในราชการและทุกข์สุขของราษฎร จึงเป็นที่รักใคร่นับถือ ราษฎรจึงพากันอพยพติดตามไปอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ความทราบถึงพระเจ้าสิริบุญสาร ก็คิดว่าพระวอและพระตาจะเป็นกบฎจึงเตรียมทัพมาตีเมืองหนองบัวลุ่มภู เมื่อพระวอและพระตาได้ทราบข่าวว่าทัพเวียงจันทน์จะยกมาตีจึงเตรียมป้องกันเมืองอย่างแข็งแรง สร้างกำแพงหินบนเขาภูพานไว้ป้องกันข้าศึก และตั้งชื่อเมืองใหม่ว่า "นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน" ประกาศตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นกับเวียงจันทน์ กองทัพเวียงจันทน์ของพระเจ้าสิริบุญสารยกทัพมาโจมตีต่อสู้กันอยู่ ถึง 3 ปี ก็ยังไม่สามารถตีเมืองได้

ระหว่างนั้นพระวอและพระตาส่งได้เครื่องบรรณาการไปขอความช่วยเหลือจากพม่า แต่พม่ากลับไปเข้าข้างเวียงจันทน์ยกทัพมาสมทบทัพเวียงจันทน์ตีทัพพระตาและพระวอ พระตาต้องตายในที่รบ ส่วนพระวอกับพวกตีฝ่าวงล้อมของข้าศึกไปอาศัยเจ้านครจำปาศักดิ์ และไปตั้งมั่นอยู่ที่ดอนมดแดงหรือจังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน

หลังจากหนีมาอยู่ที่ดอนมดแดง พระวอจึงได้มาขอขึ้นกับกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดให้พระวอกับพวกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ดอนมดแดงเป็นข้าขอบขัณฑสีมา แต่ภายหลังพระเจ้าสิริบุญสาร แต่งทัพมาล้อมจับพระวอและฆ่าเสีย ท้าวก่ำ บุตรพระวอ ท้าวคำผิ ท้าวทิดพรหม บุตรพระตา พาไพร่พลตีวงล้อมออกไปได้ และมีใบบอกไปยัง เมืองนครศรีธรรมราช เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้ากรุงธนบุรี และขอกำลังทัพมาช่วยเหลือ พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงขัดเคืองที่พระเจ้าสิริบุญสารดูหมิ่นมาทำร้ายข้าขอบขัณฑสีมา จึงโปรดให้เจ้าพระยาจักรีกับเจ้าพระยาสุรสีห์เป็นแม่ทัพยกไปเวียงจันทน์ จนสามารถตีเวียงจันทน์แตก ตั้งแต่นั้นมาเวียงจันทน์ หลวงพระบางและจำปาศักดิ์ ตกเป็นประเทศราชของไทยจนกระทั่งกลับคืนไปในสมัยรัชกาลที่ 5

ส่วนบ้านศรีฐานนั้นเชื่อกันว่าในขณะที่อพยพมามีชาวบ้านที่ชื่อ “ขุนศรี” มีฝีมือในการล่าสัตว์ โดยจะออกล่าสัตว์ตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณหนองนา ซึงมีสัตว์ป่าชุกชุม จึงได้ตั้งสร้างที่พักไว้บริเวณนั้นเพื่อเพื่อสะดวกแก่การล่าสัตว์ ต่อมามีชาวบ้านที่เห็นว่าบริเวณดังกล่าวเป็นที่อุดมสมบูรณืจึงได้อพยพตามมาเป็นจำนวนมากจนกลายเป็นหมู่บ้านใหม่ชื่อว่าบ้านศรีฐาน โดยมีคำว่า “ศรี” มาจากชื่อของขุนศรี และคำว่า “ฐาน” มาจากถิ่นฐานที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงกลายมาเป็นบ้านศรีฐานในปัจจุบัน

สภาพความเป็นอยู่ของบ้านศรีฐานในสมัยที่หลวงตาพวง สุขินทริโย ถือกำเนิดนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก ไม่ได้ทำไร่มันสำปะหลังหรือปลูกปอเช่นในปัจจุบัน ในสมัยก่อนชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างดี มีสัตว์ป่า ป่าไม้ พืชพรรณ ธัญญาหาร อุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันชาวบ้านศรีฐานยังดำรงชีวิตด้วยอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่มันสำปะหลัง หรือปลูกปอ และยังทำหมอนขิด ที่มีชื่อเสียง ส่งออกขายทั่วประเทศ เป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

ต้นตระกูลเดิมของหลวงตาพวง สุขินทริโย นับถือศาสนาพุทธมาแต่ดั้งเดิม โยมบิดา มารดา มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทำบุญตักบาตรหรือถวายภัตตาหารเป็นประจำทุกวันไม่ได้ขาด ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีมาโดยตลอด มีบุตรชายก็ต้องให้บวชพระเสียก่อนทุกคน ทั้งหลวงตาพวง สุขินทริโย และน้องชายคือหลวงปู่สรวง สิริปุญโญหลังจากบวชตามประเพณีแล้วได้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงครองสมณเพศมาจนถึงปัจจุบัน

2. ปฐมวัย

ครอบครัวของหลวงตาพวง สุขินทริโย ถือได้ว่าอยู่ในระดับปานกลาง มีความเป็นอยู่สบาย ไม่เดือดร้อน มีอาชีพทำนาเป็นหลัก มีนาอยู่ 3 แปลง โดยมีลูกๆ ช่วยกันทำนา นอกจากนั้นก็เลี้ยงวัวเลี้ยงควายตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในชนบท หลวงตาพวง สุขินทริโย ก็ได้ช่วยบิดา มารดา ทำนามาตั้งแต่เล็ก ๆ และหากมีเวลาว่างก็จะนำวัวควายออกไปเลี้ยงเป็นประจำ เพื่อแบ่งเบาภาระของโยมบิดามารดา

ช่วงที่นำวัวควายออกไปเลี้ยงก็มักจะมีน้องชาย คือ ด.ช.สรวง ลุล่วง หรือ หลวงปู่สรวง สิริปุญโญ ไปเป็นเพื่อนช่วยกันทำไร่ไถนา หยอกล้อกันเล่นตามประสาเด็กๆ หลวงปู่สรวง สิริปุญโญ ท่านเคยเมตตาเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่ง หลวงปู่สรวงได้ออกไปทุ่งนาตั้งแต่เช้ามืดกับพี่ชาย คือหลวงตาพวง สุขินทริโย เพื่อช่วยกันไถนาปรับหน้าดินเพื่อเตรียมปลูกข้าว หลังจากที่ทำงานกันจนหมดแรง ด.ช.สรวง ลุล่วง ก็เลยไปพักบนขอนไม้ใหญ่และเผลอหลับไป พอเด็กชายพวงเห็น ก็คิดจะแกล้งน้อง เลยเอากิ่งไม้เล็กไปแหย่ที่ปลายจมูกเพื่อให้น้องชายตื่น ทำเช่นนี้อยู่ 2-3 ครั้ง จนเด็กชายสรวงโมโห จึงลุกขึ้นมาต่อยพี่ชาย แต่สู้พี่ชายไม่ได้ เลยนั่งร้องไห้ หลวงปู่สรวงท่านเล่าให้เห็นภาพของความผูกพันของพี่น้องทั้งสองคนได้เป็นอย่างดี

บิดามารดาของท่านมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารเพลทุกวันมิได้ขาด ในวัยเด็กของหลวงตาพวง สุขินทริโย ได้ติดตามบิดามารดาเข้าวัดเป็นประจำ ทำบุญตักบาตรทุกเช้า หรือไม่ก็นำอาหารไปถวายพระที่วัดแทนบิดามารดา ชีวิตมีความผูกพันกับวัดมาตั้งแต่เล็ก ๆ ได้เห็นการดำรงสมณเพศของภิกษุสามเณรในวัดที่มีความสงบ สำรวม จริยาวัตรที่งดงาม จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาตั้งแต่วัยเยาว์ หลวงปู่สรวง สิริปุญโญ ก็เช่นเดียวกันที่มีความผูกพันกับวัดมาโดยตลอด ในวัยเด็กท่านยังได้มีโอกาสรับใช้ครูบาอาจารย์สำคัญหลายองค์รวมทั้งหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ที่มาจำพรรษาที่วัดศรีฐานในอีกด้วย

เมื่อ ด.ช.พวง ลุล่วง อายุครบเกณฑ์ บิดามารดาก็ส่งเข้าเรียนชั้นปฐมศึกษาภาคบังคับที่โรงเรียนประชาบาลในหมู่บ้านศรีฐานนั่นเอง ช่วงเวลาที่ว่างจากการเรียน และช่วยเหลือกิจการงานของครอบครัว ด.ช.พวง มักจะไปเที่ยวเล่นในวัดใกล้ ๆ กับโรงเรียน ผิดวิสัยกับเด็กทั่วไป ช่วยพระเณร ปัดกวาดเช็ดถู กุฏิศาลา หรือช่วยกิจการงานต่าง ๆ เช่น ล้างถ้วย ล้างชาม ในวัดศรีฐานใน เป็นประจำ ด้วยอุปนิสัยใจคอของ ด.ช.พวง ลุล่วง ที่มีนิสัยขยัน ขันแข็ง ไม่เกียจคร้าน ว่านอนสอนง่าย อยู่ในโอวาทของบิดามารดา ครูอาจารย์ จึงเป็นที่รักและเอ็นดูของบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ และพระเณรในวัดเป็นอย่างมาก นี่คงเป็นนิสัยที่ได้สั่งสมมาแต่ในอดีตชาติ ที่ส่งผลมาในชาติปัจจุบัน ทำให้มีจิตน้อมนำมาสู่ในพระพุทธศาสนาอย่างแน่วแน่มั่นคง

ส่วนวัดศรีฐานในนั้นเป็นศูนย์กลางจิตใจของชาวบ้านศรีฐานนั้นเดิมมีชื่อว่า “วัดศรีษะเกษ” ซึ่งก่อตั้งขึ้นราวปี พ.ศ. 2469 ในสมัยนั้นพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญญาพโล พร้อมด้วยคณะพระกรรมฐานที่ได้ออกจาริกเผยแผ่พระพุทธศาสนา มาถึงบริเวณนี้ ได้เทศน์สั่งสอนอบรมให้ชาวบ้านให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เลิกนับถือผี หันมายึดถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ชาวบ้านศรีฐานเมื่อได้ฟังค่ำเทศนาสั่งสอนก็มีจิตเลื่อมใส

พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญญาพโลได้พิจารณาเห็นว่าบริเวณดอนปู่ตาเป็นสถานที่สัพปายะ เหมาะสมกับการปฏิบัติภาวนา ชาวบ้านก็พร้อมใจถวายดอนปู่ตาให้สร้างเป็นวัดขึ้นมา และเรียกว่า วัดป่า ขณะเดียวกันบริเวณดังกล่าวก็มีวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นวัดเดิมที่ไม่มีพระจำพรรษาอยู่ ชาวบ้านจึงเห็นว่าควรรวมวัดเดิมกับวัดป่าให้เป็นวัดเดียวกัน และเรียกวัดใหม่นี้ว่า “วัดป่าศรีฐานใน” มาจนปัจุบัน

วัดศรีฐานในนับตั้งแต่นั้นมาจึงเป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีบุตรหลานชาวบ้านศรีฐานที่เลื่อมใสบวชเรียนในพระพุทธศาสนาจำนวนมาก ครูบาอาจารย์ชาวบ้านศรีฐานที่เป็นที่รู้จักการอย่างกว้างขวาง อาทิ เช่น

1) พระอาจารย์สมุห์บุญสิงห์ สีหนาโท (ศิษย์ท่านอาจารย์พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และเป็นพระอาจารย์รูปแรกของพระอาจารย์สิงห์ทอง) วัดป่าศรีฐานใน จ.ยโสธร

2) พระอาจารย์บุญช่วย ธัมมวโร วัดป่าศรีฐานใน จ.ยโสธร

3) พระอาจารย์สอ สุมังคโล วัดป่าศรีฐานใน จ.ยโสธร

4) พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้วชุมพล จ.สกลนคร

5) พระเทพสังวรญาณ (หลวงตาพวง สุขินทริโย) วัดศรีธรรมาราม จ.ยโสธร

6) หลวงปู่เพียร วิริโย วัดป่าหนองกอง จ.อุดรธานี

7) หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภรโต วัดถ้ำกองเพล จ.หนองบัวลำภู

8) หลวงปู่บุญมา สุชีโว วัดป่าสุขเกษม จ.หนองบัวลำภู

9) หลวงปู่ทองดี วรธัมโม วัดป่านิคมวนาราม จ.ยโสธร

10) หลวงปู่สรวง สิริปุญโญ วัดป่าศรีฐานใน จ.ยโสธร

11) หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม วัดป่าแก้วชุมพล จ.สกลนคร

12) พระอาจาย์น้อย ปัญญวุโธ วัดป่านานาชาติ สหรัฐอเมริกา

13) หลวงปู่จวน โชติธัมโม วัดป่านิคมวนาราม จ.ยโสธร

14) พระอาจารย์ทองสี กตปัญโญ วัดป่าสุทธิมงคล จ.ยโสธร

15) พระอาจารย์ประเสริฐ ปวฑัฒโน วัดป่าสุทธิมงคล จ.ยโสธร

3. พระอาจารย์องค์แรก (พระอาจารย์สอ สุมังคโล)

ช่วงชีวิตของ ด. ช.พวง ลุล่วง ในช่วงวัยเยาว์ ได้แวะเวียนมาช่วยพระเณรในวัดศรีฐานใน เป็นประจำ บางครั้งก็พักค้างคืนที่วัด บิดา มารดาเห็นว่าบุตรชายของตนมีความสนใจในพระพุทธศาสนา ก็ส่งเสริมโดยมิได้ห้ามปรามแต่อย่างใด ช่วงเวลานั้นนับเป็นช่วงที่สำคัญที่ ด.ช.พวง ลุล่วง ได้มีโอกาสพบกับ พระอาจารย์สอ สุมังคโล (เกิดในสกุลไชยเสนา ณ บ้านศรีฐาน) พระลูกวัดในวัดศรีฐานใน มีอายุเพียง 26 ปี แม้จะบวชได้เพียง 6 พรรษา แต่พระอาจารย์สอ สุมังคโล ก็เป็นพระที่เคร่งครัดในพระวินัย มีความรู้แตกฉานทั้งทางด้านปริยัติ อีกทั้งยังมีวัตรปฏิบัติที่เข้มงวด เคารพครูบาอาจารย์ มีจิตใจแน่วแน่ในการปฏิบัติธรรมเพื่อหลุดพ้นและตั้งใจอบรมสั่งสอนอุบาสกอุบาสิกา จนเป็นที่นับถือของคนทั่วไป

พระอาจารย์สอ สุมังคโล ได้เห็นถึงความสนใจในพระพุทธศาสนาของเด็กชายพวง ลุล่วง นอกจากนั้นท่านยังได้เห็นแววของเด็กชายพวง ลุล่วงว่าเป็นเด็กที่ว่านอนสอนง่าย เชื่อฟัง และปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอนได้เป็นอย่างดี เห็นทีจะมีวาสนา บารมี สั่งสมมาแต่ชาติปางก่อน จึงเมตตาอบรมสั่งสอนให้รู้หลักในการปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์ สอนให้สวดมนต์ นั่งวิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั่งเด็กชายพวง สามารถสวดมนต์ ทำวัตรเช้า-เย็น ได้ตั้งแต่ยังไม่บวชเณรเสียอีก

ในช่วงเวลานั้นเองที่พระอาจารย์สอ กำลังจะไปศึกษาปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล พระอาจารย์องค์สำคัญในสายวิปัสสนากรรมฐาน และเป็นอาจารย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ขณะนั้นหลวงปู่เสาร์ จำพรรษาอยู่ที่วัดดอนธาตุ ซึ่งเป็นวัดบนเกาะกลางลำน้ำมูล ในอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี พระอาจารย์สอต้องการคนติดตามไปอุปัฎฐากในระหว่างการเดินทาง เพราะโดยปกติแล้วพระสายกรรมฐาน ไม่สามารถถือเงินได้ ท่านจึงได้เอ่ยปากขอกับพ่อเนียม บิดาของ ด.ช.พวง ลุล่วง เพื่อให้ ด.ช.พวงติดตามไปรับใช้ในช่วงที่จะธุดงค์ ไปปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่เสาร์

ด.ช.พวง ลุล่วง ในวัย 14 ปี จบชั้นประถมศึกษาภาคบังคับพอดี ยังไม่มีภาระหน้าที่อะไรที่สำคัญนอกจากช่วยงานที่บ้าน พ่อเนียมจึงกลับมาถามว่าอยากไปธุดงค์รับใช้ปรนนิบัติพระอาจารย์สอหรือไม่ ด.ช.พวง ทราบความประสงค์ของพระอาจารย์สอ และด้วยความอยากจะไปดูความเจริญในจังหวัดอุบลราชธานี จึงตัดสินใจติดตามพระอาจารย์สอในการเดินทางไปปฏิบัติธรรมร่วมกับหลวงปู่เสาร์ในทันทีโดยมิได้ลังเล

ส่วนพระอาจารย์สอ สุมังคโล หลังจากที่ถวายตัวเป็นลูกศิษย์หลวงปู่เสาร์ และได้ติดตามการจาริกครั้งสุดท้ายของหลวงปู่เสาร์ที่เมืองจำปาศักดิ์ ระหว่างนั้นหลวงปู่เสาร์ก็มรณภาพ หลังจากเสร็จงานฌาปณกิจหลวงปู่เสารฺ พระอาจารย์สอ สุมังคโล จึงเดินทางต่อไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ได้ร่วมจำพรรษากับหลวงปู่มั่นอยู่ระยะหนึ่ง ท่านได้ป่วยเป็นไข้อยู่ประมาณหนึ่งเดือน เหลือวิสัยที่จะเยียวยา ได้มรณภาพกลางพรรษานั่นเอง (อายุ 29 ปี 9 พรรษา) ส่วนการฌาปณกิจก็เป็นอย่างเรียบง่าย เช่นเดียวกับหลวงปู่เนียม ตามแบบฉบับของพ่อแม่ครูอาจารย์สายหลวงปู่มั่น อย่างเรียบง่าย สอนให้เห็นชีวิตว่าไม่มีอะไรยั่งยืน มีตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เป็นสัจธรรมของชีวิตทุกผู้ทุกนาม

4. เป็นศิษย์หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล

พระอาจารย์สอ สุมังคโล ได้ออกเดินทางเพื่อไปกราบฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ที่วัดดอนธาตุ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี โดยมี เด็กชายพวง ลุล่วง ในวัย 14 ปี พร้อมด้วย เด็กชายบุญมี ไชยงาม ติดตามไปด้วย โดยออกเดินทาง จาก บ้านศรีฐาน อ.คำเขื่อนแก้ว (ในสมัยนั้น) ไปยัง อ.พิบูลมังสาหาร จ. อุบลราชธานี โดยมีจุดหมายปลายทาง คือการปฏิบัติธรรมร่วมกับหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ที่วัดดอนธาตุหรือวัดที่หลวงปู่เสาร์เรียกว่า “วัดเกาะแก้วพระนอนคอนสวรรค์วิเวกพุทธกิจศาสนา”

ในสมัยนั้นยังไม่มีรถประจำทาง จึงต้องอาศัยรถของกรมทางหลวงไปลงที่อำเภออำนาจเจริญ เพื่อขึ้นรถประจำทางไปยังตัวเมืองอุบลราชธานี แวะพำนักที่วัดบูรพารามในเมืองอุบลราชธานี หลังจากนั้นก็ลงเรือไฟต่อไปยังอำเภอพิบูลมังสาหาร แวะพักที่วัดภูเขาแก้ว รุ่งเช้าข้ามลำน้ำมูลไปวัดดอนธาตุ ใช้เวลาการเดินทางกว่า 3 วันกว่าจะถึงวัดดอนธาตุของหลวงปู่เสาร์ ต้องผ่านเส้นทางที่ทุรกันดารเต็มไปด้วยอุปสรรคและความลำบาก แต่ด้วยจิตใจที่มีความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่น ไม่ย่อท้ออุปสรรค และด้วยบุญบารมีที่สะสมมาตั้งแต่อดีตชาติ การออกเดินธุดงค์ในครั้งนี้จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของสร้างบารมีและความเข้มแข็งในจิตใจให้กับเด็กชายพวง ลุล่วง ในเวลาต่อมา

เมื่อเดินทางร่วมกับพระอาจารย์สอ สุมังคโล มาถึงวัดดอนธาตุหรือวัดเกาะแก้วฯ ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่เสาร์ได้สร้างขึ้น และจำพรรษาเป็นวัดสุดท้ายในบั้นปลายชีวิตของท่าน วัดดอนธาตุแห่งนี้ตั้งอยู่บนเกาะอยู่กลางลำน้ำมูลใน อ.พิบูลมังสาหาร ไม่มีสะพาน มีน้ำล้อมรอบทุกทิศทาง การเดินทางจะต้องไปโดยเรือเท่านั้น มีภูมิประเทศที่เป็นสัปปายะ เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง พระอาจารย์สอ สุมังคโล ก็ได้พาทั้งเด็กชายพวง ลุล่วง และ เด็กชายบุญมี ไชยงาม ไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่เสาร์ เพื่อเรียนรู้ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ อันเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติในเวลาต่อมา

หลวงตาพวงท่านเล่าให้ฟังว่า "หลวงปู่เสาร์มีอุปนิสัยไม่ค่อยพูด ชอบสันโดษ ท่านจะเทศน์สั่งสอนเมื่อจำเป็น ในช่วงที่หลวงตาอยู่กับท่านนั้น สุขภาพของท่านไม่ค่อยแข็งแรง การอบรมสั่งสอนญาติโยม ตลอดจนพระเณรต่าง ๆ ท่านได้มอบให้หลวงพ่อดี ฉันโน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่าน ให้อบรมสั่งสอนแทน

หลวงปู่เสาร์เป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ในการออกธุดงค์ช่วงแรกๆ ของหลวงปู่มั่น ท่านทั้งสองมักจะออกธุดงค์ไปด้วยกัน ตามจังหวัดต่าง ๆแถบภาคอีสาน ท่านชอบไปไหนมาไหนด้วยกันทั้งในและนอกพรรษา พอถึงช่วงกลางอายุของท่าน เวลาจำพรรษามักแยกกันอยู่ แต่ไม่ห่างไกลกันนัก เพราะต่างฝ่ายต่างมีลูกศิษย์จำนวนมาก จำเป็นต้องแยกกันอยู่เพื่อให้มีที่อยู่อาศัยอย่างเพียงพอ

พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ได้บันทึกคำบอกเล่าของพระอาจารย์มั่นเกี่ยวกับพระอาจารย์เสาร์ ในหนังสือประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ ไว้น่าสนใจว่า เดิมหลวงปู่เสาร์ ปรารถนาเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า เวลาออกบำเพ็ญ พอเร่งความเพียรเข้ามาก ๆ ในรู้สึกประหวัด ๆ ถึงความปรารถนาเดิมเพื่อเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า แสดงออกเป็นเชิงอาลัย เสียดาย ไม่อยากไปนิพพาน ท่านเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อความเพียรเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ ท่านเลยอธิษฐาน ของดจากความปรารถนานั้น และขอประมวลมาเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาตินี้ ไม่ขอเกิดมารับความทุกข์ทรมานในภพชาติต่าง ๆ อีกต่อไป

พอท่านปล่อยวางความปรารถนาเดิมแล้ว การบำเพ็ญเพียรรู้สึกสะดวกและเห็นผลไปโดยลำดับ ไม่มีอารมณ์เครื่องเกาะเกี่ยวเหมือนแต่ก่อน สุดท้ายท่านบรรลุถึงแดนแห่งความเกษมดังใจหมาย แต่การแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ท่านไม่ค่อยมีความรู้แตกฉานกว้างขวางนัก ทั้งนี้อาจเป็นไปตามภูมินิสัยเดิมของท่านที่มุ่งเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า ซึ่งตรัสรู้เองชอบ แต่ไม่สนใจสั่งสอนใครก็ได้ นอกจากนั้นท่านยังไม่ชอบพูด ชอบเทศน์ เวลาจำเป็นต้องเทศน์ ท่านก็เทศน์เพียงหนึ่งหรือสองประโยคเท่านั้น แล้วก็ลงธรรมาสน์ไป

ประโยคที่ท่านเทศน์ซึ่งพอจับใจความได้ว่า "ให้พากันละบาปและบำเพ็ญบุญ อย่าให้เสียลมหายใจไปเปล่า ที่ได้มีวาสนาเกิดมาเป็นมนุษย์" และ "เราเกิดเป็นมนุษย์ มีความสูงศักดิ์มาก แต่อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ มนุษย์ของเราจะต่ำลงกว่าสัตว์ และจะเลวกว่าสัตว์อีกมาก เวลาตกนรกจะตกหลุมที่ร้อนกว่าสัตว์มากมาย อย่าพากันทำ" แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปกุฏิ ไม่สนใจกับใครอีกต่อไป

ลักษณะท่าทางของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล มีความสง่าผ่าเผยน่าเคารพเลื่อมใสมาก ผู้ที่พบเห็นจะเกิดความรู้สึกสบายใจ เย็นใจ ไปหลายวัน ประชาชนและพระเณรเคารพเลื่อมใสท่านมาก ท่านก็มีลูกศิษย์มากมายเหมือนหลวงปู่มั่น และคงเป็นเพราะบุญวาสนาในอดีตที่ทำให้ด.ช.พวง ลุล่วง มีโอกาสเป็นศิษย์ของหลวงปู่เสาร์ ในช่วงที่ติดตามพระอาจารย์สอ สุมังคโล ในครั้งนี้เช่นกัน

หลวงปู่เสาร์ ท่านเคยมีโอกาสไปพำนักที่วัดป่าศรีฐานใน จ.ยโสธร บ้านเกิดของเด็กชายพวง ลุล่วง เช่นกัน ท่านได้เดินทางมาพำนักเพื่อเยี่ยมเยียนพระอาจารย์บุญช่วย ธัมวโร ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่าน จึงเป็นโอกาสที่ชาวบ้านศรีฐานในได้ฟังธรรม และทำบุญถวายพระอาจารย์สายวิปัสสานากรรมฐานองค์สำคัญ ทั้งนี้รวมทั้งโยมบิดามารดาของเด็กชายพวง ลุล่วงด้วย

เหตุการณ์ในครั้งนั้น หลวงปู่สรวง สิริปุญโญได้เมตตาเล่าให้ฟังว่า “สมัยก่อนวัดป่าศรีฐานในเป็นที่อยู่อาศัยของฝูงลิงฝูงใหญ่ เพราะเป็นป่ามีต้นไม้หนาแน่น เวลามีคนมาทำบุญมันจะคอยมาแย่งอาหาร ดังนั้นเวลาจะไปวัดต้องมีเด็กผู้ชายติดตามไปด้วยเพื่อคอยไล่ลิง เพราะลิงจะกลัวผู้ชาย หลวงตาเลยได้ติดตามโยมแม่ไปวัดเสมอๆ จึงเป็นโอกาสได้รับใช้ปรนนิบัติหลวงปู่เสาร์”

หลวงปู่สรวงเล่าต่อว่า “หลวงปู่เสาร์สอนให้ท่านเช็ดเท้าถวายเวลากลับมาจากบิณฑบาต โดยบอกวิธีเช็ดให้ท่านฟังอย่างละเอียด ท่านยังบอกกับพระที่อุปัฏฐากท่านว่า ให้เด็กมันทำบ้าง มันจะได้บุญกับเขา” ระหว่างนั้นหลวงปู่เสาร์ท่านได้พำนักอยู่ที่วัดป่าศรีฐานในเป็นเวลาร่วมเดือน จึงได้เดินทางกลับอุบลราชธานี นับบุญกุศลอันยิ่งของเด็กชายพวง ลุล่วงและชาวบ้านศรีฐานที่ได้มีโอกาสทำบุญสร้างกุศลกับพ่อแม่ครูบาอาจารย์องค์สำคัญในครั้งนี้

5. ติดตามหลวงปู่เสาร์ไปนครจำปาศักดิ์

ระหว่างที่ ด. ช.พวง ลุล่วง ได้พำนักอาศัยอยู่กับหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์สอ สุมังคโล ที่วัดดอนธาตุนั้น เป็นช่วงที่หลวงปู่เสาร์มีพรรษามาก (อายุ 82 ปี) สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง แต่ด้วยความกตัญญูต่อครูบาอาจารย์ของหลวงปู่เสาร์ ท่านตั้งใจจะไปกราบอัฐิและบำเพ็ญกุศลให้กับอุปัชฌาย์ของท่าน คือ พระครูทา โชติปาโล ภายหลังได้รับสมณศักดิ์เป็น พระครูสีทันดรคณาจารย์ เจ้าคณะใหญ่แห่งศรีทันดร เขตเมืองโขง แขวงนครจำปาศักดิ์

พระครูสีทันดรคณาจารย์ ท่านเป็นชาวลาว แต่ได้มาเรียนหนังสือและพำนักอยู่ที่ จ. อุบลราชธานี ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และได้บวชให้กับหลวงปู่เสาร์ หลังจากนั้นท่านได้กลับไปจำพรรษาบ้านเดิมของท่านที่อำเภอท่าเปลือย แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาว หลังจากนั้นไม่ได้ติดต่อหรือไปมาหาสู่กัน เพราะเป็นช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองในเวลานั้นไม่ปกติ ไม่สามารถข้ามฝั่งไปมาหาสู่กันได้เช่นเดิม จวบจนพระครูสีทันดรคณาจารย์มรณภาพ หลวงปู่เสาร์ก็ไม่ได้มีโอกาสได้ไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับอาจารย์ของท่าน จนกระทั่งสถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น ประเทศไทยได้แขวงนครจำปาศักดิ์มาเป็นของไทย มีข้าราชการตลอดจนทหารเข้าไปดูแล มีการคมนาคมไปมาหาสู่กันตลอด หลวงปู่เสาร์จึงปรารถนาที่จะไปกราบอัฐิและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้อุปัชฌาย์ เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์

พระอาจารย์สอ สุมังคโล พร้อมด้วยเด็กชายพวง ลุล่วง จึงขอติดตามคณะหลวงปู่เสาร์ไปนครจำปาศักดิ์ในครั้งนี้ด้วย การเดินทางครั้งนี้เริ่มออกเดินทางประมาณเดือนธันวาคม พ.ศ. 2485 ประกอบด้วย 3 ขบวน คือ

1) คณะใหญ่หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ประกอบด้วยหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่ดี ฉันโน พระอาจารย์ทอง อโสโก พระอาจารย์กงแก้ว ขันติโก (ขณะนี้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าหนองสูง จ. มุกดาหาร) พระอาจารย์สอ สุมังคโล พระอาจารย์สมัย พระอาจารย์บัวพา ปัญญาภาโส พระอาจารย์บุญมี (อยู่ที่จ.กาฬสินธุ์) พระละมัย สามเณรพรหมา รวมทั้งเด็กชายพวง ลุล่วง ในวัย 14 ปี ซึ่งเป็นสังฆการี (ศิษย์วัด) นายกร อายุ 18 ปี นายบุญมี ไทรงาม อายุ 15 ปี จากบ้านศรีฐาน นายอำนวย หรือ พระครูอำนวยโอภาสธรรมภาณ และนายเจริญ จากบ้านท่าฆ้องเหล็ก ผู้เป็นศิษย์วัดคอยอุปัฏฐากและเป็นผู้เก็บรักษาบาตรของท่านพระอาจารย์เสาร์ และยังมีแม่ชีผุย (มารดาของนายวิชิต โกศัลวิตร สามีของคุณหญิงตุ่น โกศัลวิตร) ร่วมเดินทางไปส่ง เมื่อคณะนี้เดินทางไปถึงบ้านเมืองเก่า หลวงปู่เสาร์ กันตสีโลได้ให้พระอาจารย์ทอง อโสโก และสามเณรติดตามอีกหนึ่งรูปลงที่นั่น พร้อมกับมอบมีดโต้ให้ 1 เล่ม และสั่งพระอาจารย์ทองว่าจุดนี้เป็นจุดหน้าด่าน คอยส่งข่าว ฟังข่าวคราวต่างๆ เมื่อไปท่ใดจะส่งข่าวมาบอก

2) คณะพระอาจารย์ทองรัตน์ กันตสีโล พระอาจารย์ กิ ธัมมุตตโม (ปีนั้นจำพรรษาที่เมืองยศ หรือจ.ยโสธร ในปัจจุบัน) และพระอาจารย์บุญมาก ฐิตติปุญโญ คณะนี้ได้เดินทางล่วงหน้าไปก่อนคณะใหญ่แล้ว โดยไปเตรียมการเพื่อรอรับคณะใหญ่ที่เมืองจำปาศักดิ์

คณะพระอาจารย์เนียม โชติโกและพระอาจารย์เจี๊ยะ จุนโท ทั้งสองท่านเป็น พระอาคันตุกะที่พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้ส่งมาเพื่อเยี่ยมเยีนอาการของหลวงปู่เสาร์ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่านด้วยความเป็นห่วง โดยมีพระอาจารย์บุญเพ็ง ผู้เป็นหลานหลวงปู่เสาร์และพระอาจารย์แก้ว พร้อมสามเณรและผ้าขาวผู้ติดตาม คณะนี้ได้ออกเดินธุดงค์มุ่งหน้าไปไปยัง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี โดยเดินทางด้วยเท้าเลียบไปตามฝั่งแม่น้ำมูล ซึ่งใช้เวลาเดินทางเกือบค่อนวันจึงถึงบ้านด่าน อ.โขงเจียม ตรงบริเวณที่ปากแม่น้ำมูล บรรจบกับแม่น้ำโขง คณะได้พากันค้างแรมบนภูเขาบริเวณนั้น ท่านพระอาจารย์เจี๊ยะ เล่าว่า บริแวณที่พักนั้นเป็นป่าใหญ่มาก มีสัตว์ป่ามาก ท่านยังได้พบกับปลาในแม่น้ำโขงชนิดหนึ่งที่ร้องได้เหมือนวัว ชาวบ้านละแวกนั้นเกรงกลัวต่อสถานที่ดังกล่าว ใครเข้าไปตัดไม้บริเวณนั้นมักจะมีอันเป็นไป

คณะท่านพักอยู่บริเวณดังกล่าวหลายวัน จนกระทั่งโยมตำตันมานิมนต์ลงเรือล่องแม่น้ำโขงไปส่งจนถึงบ้านเมืองเก่า (อยู่ตรงข้ามเมืองปากเซ) จากนั้นก็พากันขึ้นบก เดินทางต่อไปยังนครจำปาศักดิ์ ระหว่างนั้นคณะท่านต้องพักแรมค้างคืนระหว่างทางอีก 1 คืน จึงเดินทางไปถึงวัดอมาตยาราม เพื่อสมทบกับคณะของหลวงปู่เสาร์ เมื่อไปถึงได้ทราบข่าวจากพระครูนาคบุรี ศรีคณาภิบาล (พระมหาคำม้าว อิงควโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสว่าคณะของหลวงปู่เสาร์ได้ลงเรือไปเมืองโขงได้หลายวันแล้ว คณะพระอาจารย์เนียม และพระอาจารย์เจี๊ยะจึงได้เดินทางไปสมทบกับคณะพระอาจารย์ทองรัตน์ ที่พำนักอยู่ที่ศาลาใหญ่ ริมสระน้ำโบราณของวัดปราสาทภู ปราสาทหินเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงของนครจำปาศักดิ์ ซึ่งอยู่บนเขาห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร

3) พระอาจารย์ทองรัตน์ได้แจ้งให้คณะทราบว่า หลวงปู่เสาร์ได้สั่งไว้ว่าจะกลับมาทำบุญที่วันมาฆะบูชา เดือนสาม ที่นี่ ให้เตรียมหรือไปรับกลับมาด้วย คณะคณะพระอาจารย์เนียมและพระอาจารย์เจี๊ยะจึงอยู่รอพระอาจารย์เสาร์ที่นี่ แต่เนื่องจากสถานที่บริเวณนั้นคับแคบ พระอาจารย์ทองรัตน์จึงให้พระอาจารย์บุญเพ็งพาคณะไปพักที่บ้านห้วยสระหัวร่วมกับพระอาจารย์กิ ธัมมุตตโต

วัดอมาตยารามหรือวัดศิริอำมาตย์ แห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญ ตั้งอยู่บ้านอำมาตย์ นครจำปาศักดิ์ มีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ สร้างในสมัยท่านท้าวเทวธัมมี (ม้าว) และจ้าวยุติธรรมธร (เจ้านครจำปาศักดิ์) พร้อมด้วยท้าวเพี้ย กรมการเมือง ร่วมใจกันบูรณะขึ้นเป็นวัดในสายธรรมยุต วัดแรกของแขวงจำปาศักดิ์ ครั้งหนึ่งเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์เคยมาปกครองคณะสงฆ์เมืองจำปาศักดิ์ เป็นเจ้าคณะสังฆปาโมกข์ นครจำปาศักดิ์และยังได้เป็นเจ้าอาวาสวัดอำมาตย์แห่งนี้วย

คณะของหลวงปู่เสาร์ เริ่มออกเดินทางจากวัดดอนธาตุ ไปทางช่องเม็ก อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี โดยรถประจำทาง ถนนหนทางสมัยนั้นยังไม่ดีนัก รถยนต์ต้องวิ่งไต่ตามตลิ่งริมแม่น้ำโขง ส่วนอีกฝั่งจะเป็นภูเขาที่เรียกว่า ภูมะโรง หนทางเต็มไปด้วยความทุรกันดารยากลำบาก

เมื่อถึงนครนครจำปาศักดิ์ คณะได้พักอยู่ที่วัดศิริอำมาตย์ และได้เดินทางต่อโดยเรือไฟล่องลงตามแม่น้ำโขง ไปยังเกาะดอนเจดีย์ที่ตั้งอยู่กลางแม่น้ำโขง โดยใช้เวลาทั้งวัน เกาะดอนเจดีย์เป็นเกาะใหญ่อยู่กลางแม่น้ำโขง มีชาวบ้านอาศัยอยู่ถึง 2 หมู่บ้าน มีวัดที่พระครูสีทันดรคณาจารย์ อุปัชฌาย์ของพระอาจารย์เสาร์จำพรรษาอยู่และมรณภาพที่นั่น

เมื่อเดินทางไปถึงก็พบเจดีย์เล็ก ๆ อันเป็นที่เก็บอัฐิของพระครูสีทันดรคณาจารย์ มีพื้นที่ประมาณ 20 ตารางเมตร ตั้งอยู่กลางทุ่งนาห่างจากวัดประมาณ 200 เมตร หลวงปู่เสาร์ก็ได้พาญาติโยมแถบนั้นมาร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้อุปัชฌาย์ของท่านสมดังเจตนา ในวันที่ทำบุญถวายแด่พระอุปัชฌาย์ของท่านนั้น หลวงปู่เสาร์ได้เล่าความประสงค์ของท่านให้ญาติโยมทั้งได้ทราบ ในการบำเพ็ญกุศลครั้งนี้มีพระสงฆ์ที่นิมนต์มาจำนวนถึง 40 รูป รับถวายปัจจัยรูปละ 1 บาท ครบจำนวน 40 บาท ซึ่งปัจจัยจำนวนนี้หลวงปู่เสาร์ท่านได้ถวายด้วยปัจจัยของท่านเองทั้งหมด ส่วนญาติโยมก็ชาวเมืองโขง เมืองดอนฮีธาตุ ก็ได้ร่วมจัดเตรียมภัตตาหารมาถวายพระภิกษุสามเณรทั้งหมด

หลวงปู่เสาร์และคณะพำนักอยู่ที่เกาะดอนเจดีย์ประมาณหนึ่งสัปดาห์ ก็ได้ออกเดินทางต่อโดยนั่งเรือแจวขนาดนั่งได้ 6-7 คน มีฝีพายสองคนอยู่หัวเรือและท้ายเรือ ขนสัมภาระต่างๆลงเรือหลายลำ พาล่องแม่น้ำโขงไปยังแก่งหลี่ผี ซึ่งเป็นสถานที่ที่อยู่กลางแม่น้ำโขง มีลักษณะเหมือนภูเขาลูกหนึ่งขวางกั้นแม่น้ำโขง แม่น้ำทั้งสายไหลข้ามภูเขาไปด้านหลังตกลงเป็นน้ำตกขนาดความสูง 30-40 เมตร มีเกาะแก่งเป็นร้อย ๆ แห่ง ชาวบ้านเรียกว่าหลี่ผี ซึ่งแปลว่าที่ดักปลาของภูติผี บริเวณดังกล่าวเวลาพูดอะไรจะไม่ได้ยินเพราะเสียงน้ำตกดังมาก ถ้าหากจะพูดกันต้องพูดกันใกล้ๆจึงจะได้ยิน

สมัยที่ฝรั่งเศสปกครองนั้น ยังไม่มีถนนหนทางที่สะดวกและไม่สามารถเดินทางผ่านประเทศไทยได้ การคมนาคมติดต่อจะต้องขนของหรือสัมภาระโดยเรือใหญ่จากประเทศกัมพูชามาจอดที่ท่าเรือหลี่ผี แล้วจะต้องใช้รถไฟขนถ่ายสัมภาระต่อไปยังแขวงสุวรรณเขตหรือปากเซ มีรถไฟอยู่สองขบวนสำหรับส่งของ ส่วนรถยนต์ไม่ค่อยมี มีแต่สามล้อ สำหรับโดยสาร

ขณะนั้นหลวงปู่เสาร์มีอายุได้ 82 ปี สุขภาพไม่แข็งแรงอยู่แล้ว เริ่มอาพาธมากขึ้น มีอาการเหนื่อย ฉันอาหารไม่ได้ คณะลูกศิษย์จึงได้พาท่านกลับมายังอำเภอท่าเปลือย ซึ่งมีแพทย์ไทยรวมทั้งอุปกรณ์การแพทย์ที่พร้อมกว่า เมื่อถึงอำเภอท่าเปลือย หลวงปู่เสาร์ก็ได้มอบหมายให้พระอาจารย์ดี ฉันโน เป็นผู้ไปจัดหาสถานที่ปักกลดบริเวณเชิงเขา เพื่อจะให้คณะได้อาศัย รุกขมูล บำเพ็ญเพียรภาวนาในบริเวณนี้

6. หลวงปู่เสาร์มรณภาพ

ก่อนเดินทางไปนครจำปาศักดิ์นั้น หลวงปู่เสาร์เริ่มมีอาการอาพาธอันเนื่องมาจากท่านโดนผึ้งต่อย สาเหตุเพราะวันหนึ่งมีเหยี่ยวมาโฉบรังผึ้งใหญ่ที่ทำรังอยู่ให้ต้นยางใหญ่ข้างศาลา ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ กิ่งไม้นี้อยู่สูงทอดไปทางทิศใต้ ทำให้รังผึ้งอยู่แนวทิศเหนือใต้ เรียกว่า “ผึ้งขวางตะวัน”

จากหนังสือ “หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง” ที่หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท วัดภูริทัตตปฎิปทาราม อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ท่านได้เมตตาเล่าเหตุการณ์ตอนนั้นให้ฟังว่า: “ในปลายปี พ.ศ. 2484 เรา (หลวงปู่เจี๊ยะ) ได้เดินทางติดตามท่านพระอาจารย์มั่น ไปพักที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ฉะนั้นในระยะ 3 ปีนี้เราเป็นพระอุปัฏฐากประจำ เมื่อเดินทางถึงสกลนครและพักฟื้นอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาสได้ 2-3 วัน ท่านหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ก็มีจดหมายมานิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่น เนื่องจากหลวงปู่เสาร์ป่วยหนัก ท่านพระอาจารย์มั่นจึงมอบหมายให้เราเดินทางไปอุบลฯ แทน เพื่อดูแลอุปัฏฐากในอาการป่วยของหลวงปู่เสาร์ และกราบเรียนตามที่ท่านพระอาจารย์มั่นสั่งมา เราจึงออกเดินทางโดยรถยนต์ยังจังหวัดอุบลราชธานีและเดินเท้าไปพบกับท่านหลวงปู่เสาร์ ที่วัดดอนธาตุ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

“ก่อนหน้าที่เราจะมาถึงวัดดอนธาตุนั้นมีอยู่วันหนึ่ง ตอนบ่ายหลวงปู่เสาร์นั่งสมาธิอยู่ใต้โคนต้นยางใหญ่ พอดีขณะนั้นมีเหยี่ยวตัวหนึ่งได้บินโฉบไปโฉบมาเพื่อหาเหยื่อ จะด้วยกรรมแต่ปางใดของท่านไม่อาจทราบได้ เหยี่ยวได้บินมาโฉบเอารังผึ้ง ซึ่งอยู่บนต้นไม้ที่หลวงปู่เสาร์นั่งอยู่พอดิบพอดี รวงผึ้งนั้นได้ขาดตกลงมาด้านข้างๆ กับที่หลวงปู่เสาร์นั่งอยู่ ผึ้งได้รวมกันต่อยหลวงปู่หลายตัว จนท่านถึงกับต้องเข้าไปในมุ้งกลดพวกมันจึงพากันหนีไป จากเหตุการณ์ที่ผึ้งต่อยนั้นมาทำให้หลวงปู่เสาร์ป่วยกระออดกระแอดมาโดยตลอด เมื่อเรา (หลวงปู่เจึ๊ยะ) ถึงวัดดอนธาตุได้ 2-3 วัน หลวงปู่เสาร์ท่านอาการหนักขึ้นโดยลำดับ เราอยู่ปฏิบัติท่านจนกระทั่งหายเป็นปกติดีแล้ว”

ข้อมูลเพิ่มเติมจากหนังสือ “พระปรมาจารย์สายพระกัมมัฏฐาน ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถระ” มีว่า : “ท่านพระอาจารย์เสาร์บอกว่า บุพกรรมข้อยตอนเป็นฆราวาสได้ไปหาปลาตอนน้ำลงที่บ้านข่าโคม และไปฟันปลา แล้วร้อยปลาเป็นพวงๆ บุพกรรมที่ทำลายชีวิตปลา ฆ่าปลา กรรมนี้จึงมาโดนกับข้อย” ท่านเคยบอกกับญาติโยมก่อนหน้าจะถูกผึ้งต่อยว่า “ข้อยสิตายจากเพราะผึ้ง” ญาติโยมที่นำน้ำผึ้งมาถวายท่านก็เลยไม่นำน้ำผึ้งมาถวายท่านอีกเลยตั้งแต่นั้นมา ซึ่งต่อมาท่านก็โดนผึ้งต่อยจริงๆ นับแต่นั้นมาองค์ท่านก็มีอาการเจ็บไข้ไม่สบายเรื่อยมา ประกอบกับความชราของท่านจึงได้มีอาการเจ็บป่วยของธาตุขันธ์อยู่เสมอ”

หลังจากที่ได้บำเพ็ญกุศลให้กับพระครูสีทันดรคณาจารย์ อุปัชฌาย์ท่านแล้วหลวงปู่เสาร์และคณะสงฆ์ได้พักอยู่บริเวณรุกขมูลในอำเภอท่าเปลือย หรือกำปงสลา ประมาณหนึ่งเดือนนั้น และมีกำหนดที่จะทำพิธีมาฆะบูชาที่บ้านนาดี พอเริ่มเข้าช่วงเดือน 4-5 อากาศเริ่มเปลี่ยนแปลง ฝนตกมากขึ้น ทำให้อาการของหลวงปู่เสาร์เริ่มป่วยเป็นไข้หวัด เพราะโดนฝนที่ตกอย่างหนักในขณะนั้น หลวงตาพวงเล่าให้ฟังว่า "ขณะนั้นฝนตกชุก ที่พักก็ใช้ใบไม้มามุงเป็นปะรำกั้นแดด แต่กั้นฝนไม่ได้ ไปอยู่สองสามวันแรกฝนตก นั่งทั้งคืนไม่ได้นอน”

ระหว่างนั้นหลวงปู่เสาร์ท่านมีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้น ฉันอาหารไม่ได้ พระอาจารย์ดีจึงได้อารธนาท่านกลับบ้านท่านาดี ท่านก็ปฏิเสธ ในที่สุดพระอาจารย์ดีก็ได้ขออารธนานิมนต์หลวงปู่เสาร์กลับไปให้ถึงวัดอำมาตย์ก่อน หลวงปู่เสาร์ท่านก็ไม่พูดว่าอะไร ท่านนิ่งเฉยแสดงว่าท่านรับนิมนต์

จนกระทั่งผ่านวันมาฆะบูชาและอุโบสถกรรมเสร็จ คณะหลวงปู่เสาร์จึงได้เดินทางมาพักที่วัดกลาง เมืองมุลปาโมกข์ เพื่อรอเรือมารับกลับนครจำปาศักดิ์ต่อไป ก่อนการเดินทางกลับในวันรุ่งขึ้น เย็นวันั้นหลวงปู่เสาร์ได้ลงสรงน้ำในแม่น้ำโขงด้วยตนเอง ทั้งที่โดยปกติก็จะมีลูกศิษย์ลูกหาเป็นผู้อุปัฏฐาก ตักน้ำ ถวายสรง ถูเหงื่อไคล ให้ท่าน ครั้งนั้นเป็นการสรงน้ำครั้งสุดท้ายของหลวงปู่เสาร์ นั่นเอง

คณะสงฆ์พยายามที่จะพาหลวงปู่เสาร์กลับอุบลราชธานี แต่ก็ติดที่หนทางนั้นไกลและลำบาก มีแต่เรือถ่อเรือแจวที่ต้องพายทวนน้ำขึ้นไป หากเดินทางด้วยวิธีนี้ต้องใช้เวลาหลายวัน แต่จะเป็นด้วยบุญญาธิการหรือเทพาภินิหารประการใดก็ไม่ทราบ บังเอิญมีเรือกลไฟผ่านเทียบท่าช่วงนั้นพอดี นายอำเภอจึงได้กราบเรียนคณะสงฆ์ พอเช้าวันรุ่งขึ้นคณะสงฆ์จึงได้พาหลวงปู่เสาร์เดินทางไปนครจำปาศักดิ์ และเตรียมที่จะนั่งรถโดยสารต่อไปยัง จ.อุบลราชธานี

การเดินทางวันนั้นคณะสงฆ์และญาติโยมผู้ติดตาม ได้หามหลวงปู่เสาร์ลงเรือเล็ก แล้วเอาเรือที่ท่านนั่งผูกติดกับเรือกลไฟ เพื่อไม่ให้ท่านได้รับความกระทบกระเทือนมาก โดยมีพระอาจารย์บัวพาและพระอาจารย์กงแก้ว และเด็กชายเจริญ ลงเรือเล็กเพื่อดูแลหลวงปู่เสาร์ ส่วนพระอาจารย์ดี พระกองแก้ว พระอาจารย์สอ และคณติดตามคนอื่นๆ ขึ้นเรือกลไฟ

หลวงตาพวงเล่าให้ฟังว่า "วันนั้นรีบเดินทาง ข้าวปลาก็ไม่ได้เตรียม เพราะลูกศิษย์คิดว่า ระหว่างทางคงจะมีที่ขายอาหารแต่เรือไฟไม่ได้จอดพัก จึงมีแค่ข้าวเหนียวกับปลาแห้งถวายพระเณรองค์ละปั้น ใช้เวลาล่องเรือตลอดทั้งวัน จนกระทั่งประมาณ 5 โมงเย็นจึงได้เดินทางถึงนครจำปาศักดิ์"

เมื่อเรือจอดเทียบท่าเรียบร้อยแล้ว ลูกศิษย์ลูกหาต่างกุลีกุจอหามแคร่ไม้ไผ่ลงไปท่าน้ำ เพื่อรับหลวงปู่เสาร์มาบนบก ทั้งพระทั้งเณรฆราวาสญาติ โยมพากันเตรียมพร้อม เพราะต่างรู้การมาของหลวงปู่เสาร์เป็นการล่วงหน้าแล้ว คณะผู้ติดตามพร้อมคณะที่รอรับ รีบอุ้มหลวงปู่เสาร์ขึ้นนอนบนแคร่ไม้ไผ่แล้วหามท่านขึ้นจากเรือ มุ่งหน้าเข้าวัดอำมาตยารามตรงไปที่โบสถ์ตามที่ทางวัดได้จัดเตรียมไว้รับท่าน พอไปถึงพระอุโบสถ ก็วางแคร่ลงบนพื้นเบื้องหน้าพระประธาน

หลวงปู่เสาร์ท่านนอนสงบนิ่งเฉยเหมือนอยู่ในสมาธิหรือเข้าฌาน ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น ท่านอยู่ในอาการนี้ตั้งแต่เริ่มออกเดินทาง ดูประหนึ่งว่าอดทนรอเพื่อให้ถึงวัดอำมาตยาราม ตามที่พระอาจารย์ดี ได้อาราธนาไว้ เมื่อศิษย์พาหลวงปู่เสาร์เข้าพักภายในโบสถ์เรียบร้อยแล้ว หลวงปู่บัวพาจึงได้กราบเรียนที่ข้างหูหลวงปู่เสาร์ว่า “ครูบาจารย์ ถึงแล้วจำปาศักดิ์ อยู่ในโบสถ์วัดอำมาตย์แล้ว” หลวงปู่เสาร์คงไม่ได้ยินชัดเจน แล้วถามกลับว่า “หือ ! วัดอำมาตย์บ้อ?” (วัดอำมาตย์หรือ?) หลวงปู่บัวพา ตอบว่า “โดย ข้าน้อย” (ครับ กระผม) ท่านลืมตาพูดว่า “ถึงแล้วใช่ไหม ให้นำเราไปยังอุโบสถ เราจะไปตายที่นั่น”

เมื่อหามองค์หลวงปู่เสาร์ถึงภายในโบสถ์ มหัศจรรย์อย่างเหลือเชื่อ หลวงปู่เสาร์ท่านลุกขึ้นนั่งด้วยองค์ท่านเอง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ลูกศิษย์จะต้องช่วยประคองทุกครั้งเวลาจะนั่งหรือนอน แต่ครั้งนี้ท่านลุกขึ้นนั่งเหมือนกับไม่ได้ เจ็บป่วยเลย หลวงปู่เสาร์นั่งพับเพียบ ลำตัวโน้มไปข้างหน้า ใช้มือยันกับพื้น มือข้างหนึ่งอยู่ระหว่างเข่าทั้งสองข้าง อีกมือยันออกไปด้านข้างเล็กน้อยสายตามองไปที่องค์พระประธาน หลวงปู่เสาร์เรียกหาผ้าสังฆาฏิมาพาดบ่า แล้วจึงก้มหน้าลงแสดงท่ากราบพระประธาน ดูท่านจะไม่มีเรี่ยวแรง หลวงปู่บัวพา พระอาจารย์กงแก้ว จึงเข้าไปช่วยพยุง หลวงปู่เสาร์ท่านคงอ่อนเพลียมาก ไม่สามารถกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ได้ เพียงแสดง อาการก้มลงไปข้างหน้า 3 ครั้ง เมื่อกราบครั้งที่สาม ร่างท่านก็แน่นิ่งอยู่อย่างนั้นไม่ไหวติง

หลวงปู่บัวพา มีความคิดว่าถ้าประคองหลวงปู่เสาร์ให้นอนลง ท่านคงจะอยู่ในอิริยาบถที่สบายมากกว่า จึงได้ขอความเห็นจากพระเณรที่อยู่ ณ ที่นั้น พระเณรต่างก็เห็นด้วย พระอาจารย์ดี พระอาจารย์สอ พระอาจารย์กงแก้ว พระอาจารย์บุญเพ็ง และพระอาจารย์บัวพา รวม 5 องค์ ได้เข้าพยุงกายหลวงปู่ใหญ่ เพื่อจะโน้มให้ท่านลงนอน แต่แล้ว ทุกองค์ต่างเลิกล้มความตั้งใจ เพราะไม่สามารถทำให้ร่างหลวงปู่เสาร์ท่านขยับเขยื้อนได้ องค์ท่านไม่ไหวติงและหนักราวกับก้อนหินใหญ่

หลวงปู่บัวพา ได้สติก่อน จึงพูดว่า “พอแล้วๆ ไม่ต้องเอาท่านลงนอน ท่านคงต้องการจะไปในท่านี้” ศิษย์ทุกองค์จึงลงนั่งรอบองค์ท่าน เปิดช่องให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก หลวงปู่เสาร์นั่งอยู่ในท่าก้มไปข้างหน้าอย่างนั้นประมาณ 20 นาทีมีเหงื่อผุดตามตัวท่านจนผ้าจีวรเปียก แต่ไม่มีใครกล้าไปแตะต้ององค์ท่าน มีเพียงพระอาจารย์กงแก้ว คอยระวังอยู่ด้านหลัง เพราะกลัวท่านจะล้ม พระอาจารย์ดี รีบเอาน้ำพ่นให้เป็นละอองฝอยรอบองค์ท่านเพื่อจะให้ชุ่มชื้นขึ้นหลวงปู่ใหญ่ ยังคงนั่งในท่านั้นไม่ไหวติง ต่อมามีอาการหายใจเฮือกใหญ่ 3 ครั้ง จนมองเห็นไหล่ทั้งสองยกขึ้น แล้วร่างท่านก็แน่นิ่งสงบไปเหมือนเดิม

พระอาจารย์บัวพาและพระอาจารย์เจี๊ยะหาเพ่งสังเกตไปที่จมูกของท่าน แล้วใช้มือแตะที่จมูกท่านจนแน่ชัดว่าท่านหมดลมปราณเสียแล้ว จึงได้ประคองตัวท่านให้นอนลง คราวนี้ปรากฏว่าร่างท่านอ่อน เพียงโน้มองค์ท่านลงนิดเดียวท่านก็นอนลงอย่างง่ายดายผิดกับเมื่อตอนแรกที่หนักเหมือนก้อนหินไม่สามารถทำให้ขยับเขยื้อนได้ ท่านอาจารย์กงแก้ว ท่านอาจารย์สอนซึ่งยังเป็นพระหนุ่ม อายุพรรษายังน้อย สุดจะกลั้นความรู้สึกได้ถึงกับปล่อยโฮออกมาอย่างแรง รู้สึกสลดสังเวชในการสูญเสียคพ่อแม่ครูอาจารย์ที่ท่านเคารพบูชาเป็นอย่างยิ่ง วันนี้เป็นวัน 3 ฯ 3 3 ค่ำ ปีมะเมีย คือ วันอังคาร แรม 3 ค่ำ เดือน 3 ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 3 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 สิริรวมอายุของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล หรือ พระครูวิเวกพุทธกิจ ได้ 82 ปี อายุพรรษา 62

คณะสงฆ์ที่ติดตามหลวงปู่เสาร์ได้จัดการเก็บศพของท่านไว้ที่วัดศิริอำมาตย์ นครจำปาศักดิ์ เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน ระหว่างนั้นก็ได้วิทยุแจ้งให้ทางหลวงปู่สิงห์ ขนตยาคโม และพระมหาปิ่น ปัญญาพโล ให้จัดรถไปรับศพของท่านกลับมาเพื่อบำเพ็ญกุศลที่วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี คณะศิษย์ได้นำศพหลวงปู่เสาร์กลับประเทศไทยเพื่อบำเพ็ญกุศล

เดือนเมษายนปี 2486 จึงได้จัดงานพิธีพระราชทานเพลิงศพให้กับหลวงปู่เสาร์ โดยมีหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นประธาน ผู้ดำเนินงานคือ หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม ส่วนผู้ที่ทำเมรุถวายคือหลวงปู่ดี ฉันโน นั่นเอง งานพระราชทานเพลิงศพนี้มีศิษยานุศิษย์ทั้งพระวิปัสสนากรรมฐานสายหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่น ตลอดจนพุทธศาสนิกชนที่มีความเลื่อมใสศรัทธาเข้าร่วมพิธีจำนวนมาก การมรณภาพของหลวงปู่เสาร์ในครั้งนี้นับได้ว่าเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในพุทธศาสนิกชนชาวไทย