หลวงตาพวง สุขินทริโย

วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

2. ปฐมวัย

ครอบครัวของหลวงตาพวง สุขินทริโย ถือได้ว่าอยู่ในระดับปานกลาง มีความเป็นอยู่สบาย ไม่เดือดร้อน มีอาชีพทำนาเป็นหลัก มีนาอยู่ 3 แปลง โดยมีลูกๆ ช่วยกันทำนา นอกจากนั้นก็เลี้ยงวัวเลี้ยงควายตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในชนบท หลวงตาพวง สุขินทริโย ก็ได้ช่วยบิดา มารดา ทำนามาตั้งแต่เล็ก ๆ และหากมีเวลาว่างก็จะนำวัวควายออกไปเลี้ยงเป็นประจำ เพื่อแบ่งเบาภาระของโยมบิดามารดา

ช่วงที่นำวัวควายออกไปเลี้ยงก็มักจะมีน้องชาย คือ ด.ช.สรวง ลุล่วง หรือ หลวงปู่สรวง สิริปุญโญ ไปเป็นเพื่อนช่วยกันทำไร่ไถนา หยอกล้อกันเล่นตามประสาเด็กๆ หลวงปู่สรวง สิริปุญโญ ท่านเคยเมตตาเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่ง หลวงปู่สรวงได้ออกไปทุ่งนาตั้งแต่เช้ามืดกับพี่ชาย คือหลวงตาพวง สุขินทริโย เพื่อช่วยกันไถนาปรับหน้าดินเพื่อเตรียมปลูกข้าว หลังจากที่ทำงานกันจนหมดแรง ด.ช.สรวง ลุล่วง ก็เลยไปพักบนขอนไม้ใหญ่และเผลอหลับไป พอเด็กชายพวงเห็น ก็คิดจะแกล้งน้อง เลยเอากิ่งไม้เล็กไปแหย่ที่ปลายจมูกเพื่อให้น้องชายตื่น ทำเช่นนี้อยู่ 2-3 ครั้ง จนเด็กชายสรวงโมโห จึงลุกขึ้นมาต่อยพี่ชาย แต่สู้พี่ชายไม่ได้ เลยนั่งร้องไห้ หลวงปู่สรวงท่านเล่าให้เห็นภาพของความผูกพันของพี่น้องทั้งสองคนได้เป็นอย่างดี

บิดามารดาของท่านมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารเพลทุกวันมิได้ขาด ในวัยเด็กของหลวงตาพวง สุขินทริโย ได้ติดตามบิดามารดาเข้าวัดเป็นประจำ ทำบุญตักบาตรทุกเช้า หรือไม่ก็นำอาหารไปถวายพระที่วัดแทนบิดามารดา ชีวิตมีความผูกพันกับวัดมาตั้งแต่เล็ก ๆ ได้เห็นการดำรงสมณเพศของภิกษุสามเณรในวัดที่มีความสงบ สำรวม จริยาวัตรที่งดงาม จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาตั้งแต่วัยเยาว์ หลวงปู่สรวง สิริปุญโญ ก็เช่นเดียวกันที่มีความผูกพันกับวัดมาโดยตลอด ในวัยเด็กท่านยังได้มีโอกาสรับใช้ครูบาอาจารย์สำคัญหลายองค์รวมทั้งหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ที่มาจำพรรษาที่วัดศรีฐานในอีกด้วย

เมื่อ ด.ช.พวง ลุล่วง อายุครบเกณฑ์ บิดามารดาก็ส่งเข้าเรียนชั้นปฐมศึกษาภาคบังคับที่โรงเรียนประชาบาลในหมู่บ้านศรีฐานนั่นเอง ช่วงเวลาที่ว่างจากการเรียน และช่วยเหลือกิจการงานของครอบครัว ด.ช.พวง มักจะไปเที่ยวเล่นในวัดใกล้ ๆ กับโรงเรียน ผิดวิสัยกับเด็กทั่วไป ช่วยพระเณร ปัดกวาดเช็ดถู กุฏิศาลา หรือช่วยกิจการงานต่าง ๆ เช่น ล้างถ้วย ล้างชาม ในวัดศรีฐานใน เป็นประจำ ด้วยอุปนิสัยใจคอของ ด.ช.พวง ลุล่วง ที่มีนิสัยขยัน ขันแข็ง ไม่เกียจคร้าน ว่านอนสอนง่าย อยู่ในโอวาทของบิดามารดา ครูอาจารย์ จึงเป็นที่รักและเอ็นดูของบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ และพระเณรในวัดเป็นอย่างมาก นี่คงเป็นนิสัยที่ได้สั่งสมมาแต่ในอดีตชาติ ที่ส่งผลมาในชาติปัจจุบัน ทำให้มีจิตน้อมนำมาสู่ในพระพุทธศาสนาอย่างแน่วแน่มั่นคง

ส่วนวัดศรีฐานในนั้นเป็นศูนย์กลางจิตใจของชาวบ้านศรีฐานนั้นเดิมมีชื่อว่า “วัดศรีษะเกษ” ซึ่งก่อตั้งขึ้นราวปี พ.ศ. 2469 ในสมัยนั้นพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญญาพโล พร้อมด้วยคณะพระกรรมฐานที่ได้ออกจาริกเผยแผ่พระพุทธศาสนา มาถึงบริเวณนี้ ได้เทศน์สั่งสอนอบรมให้ชาวบ้านให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เลิกนับถือผี หันมายึดถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ชาวบ้านศรีฐานเมื่อได้ฟังค่ำเทศนาสั่งสอนก็มีจิตเลื่อมใส

พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญญาพโลได้พิจารณาเห็นว่าบริเวณดอนปู่ตาเป็นสถานที่สัพปายะ เหมาะสมกับการปฏิบัติภาวนา ชาวบ้านก็พร้อมใจถวายดอนปู่ตาให้สร้างเป็นวัดขึ้นมา และเรียกว่า วัดป่า ขณะเดียวกันบริเวณดังกล่าวก็มีวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นวัดเดิมที่ไม่มีพระจำพรรษาอยู่ ชาวบ้านจึงเห็นว่าควรรวมวัดเดิมกับวัดป่าให้เป็นวัดเดียวกัน และเรียกวัดใหม่นี้ว่า “วัดป่าศรีฐานใน” มาจนปัจุบัน

วัดศรีฐานในนับตั้งแต่นั้นมาจึงเป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีบุตรหลานชาวบ้านศรีฐานที่เลื่อมใสบวชเรียนในพระพุทธศาสนาจำนวนมาก ครูบาอาจารย์ชาวบ้านศรีฐานที่เป็นที่รู้จักการอย่างกว้างขวาง อาทิ เช่น

1) พระอาจารย์สมุห์บุญสิงห์ สีหนาโท (ศิษย์ท่านอาจารย์พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และเป็นพระอาจารย์รูปแรกของพระอาจารย์สิงห์ทอง) วัดป่าศรีฐานใน จ.ยโสธร

2) พระอาจารย์บุญช่วย ธัมมวโร วัดป่าศรีฐานใน จ.ยโสธร

3) พระอาจารย์สอ สุมังคโล วัดป่าศรีฐานใน จ.ยโสธร

4) พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้วชุมพล จ.สกลนคร

5) พระเทพสังวรญาณ (หลวงตาพวง สุขินทริโย) วัดศรีธรรมาราม จ.ยโสธร

6) หลวงปู่เพียร วิริโย วัดป่าหนองกอง จ.อุดรธานี

7) หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภรโต วัดถ้ำกองเพล จ.หนองบัวลำภู

8) หลวงปู่บุญมา สุชีโว วัดป่าสุขเกษม จ.หนองบัวลำภู

9) หลวงปู่ทองดี วรธัมโม วัดป่านิคมวนาราม จ.ยโสธร

10) หลวงปู่สรวง สิริปุญโญ วัดป่าศรีฐานใน จ.ยโสธร

11) หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม วัดป่าแก้วชุมพล จ.สกลนคร

12) พระอาจาย์น้อย ปัญญวุโธ วัดป่านานาชาติ สหรัฐอเมริกา

13) หลวงปู่จวน โชติธัมโม วัดป่านิคมวนาราม จ.ยโสธร

14) พระอาจารย์ทองสี กตปัญโญ วัดป่าสุทธิมงคล จ.ยโสธร

15) พระอาจารย์ประเสริฐ ปวฑัฒโน วัดป่าสุทธิมงคล จ.ยโสธร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น