หลวงตาพวง สุขินทริโย

วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

1. ชาติภูมิ

พระเทพสังวรญาณ หรือ หลวงตาพวง สุขินทริโย มีนามเดิมว่า พวง ลุล่วง เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 ตรงกับวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 ปี เถาะ ณ บ้านเลขที่ 8 หมู่ 5 บ้านศรีฐาน ตำบลศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ซึ่งเดิมคือ บ้านศรีฐาน ตำบลกระจาย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดอุบลราชธานี ท่านเป็นบุตรคนที่ 4 ของนายเนียม และนางบัพพา ลุล่วง มีพี่น้องร่วมบิดา มารดา จำนวน 6 คน เป็นชาย 3 คนและหญิง 3 คน ดังนี้

1) นายจันทา ลุล่วง อดีตกำนัน ต.กระจาย อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร (ถึงแก่กรรม)

2) นางผา ละม่อม (ถึงแก่กรรม)

3) นางสา วันเที่ยง (ถึงแก่กรรม)

4) พระเทพสังวรญาณ (หลวงตาพวง สุขินทริโย)

5) หลวงปู่สรวง สิริปุญโญ วัดศรีฐานใน ต.ศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร

6) นางจำปา ป้องกัน (ถึงแก่กรรม)

บ้านศรีฐานในอดีตนั้นสันนิษฐานว่า เป็นชุมชนที่อพยพย้ายถิ่นฐานติดตามพระวอและพระตาจากเมืองเวียงจันทน์ กรุงศรีสัตนาคนหุต พระวอและพระตาทั้งสองคนเป็นพี่น้องกัน เดิมเป็นเสนาบดีของราชสำนักกรุงศรีสัตนาคนหุต ในช่วงปลายรัชสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๒ พระวอและพระตามีส่วนช่วยให้พระเจ้าสิริบุญสารได้เป็นกษัตริย์ และได้รับตำแหน่งเป็นเสนาบดี ต่อมาเกิดการขัดแย้งด้วยพระเจ้าสิริบุญสารระแวงว่า พระวอและพระตาจะชิงราชสมบัติ จึงขอลูกสาวไปเป็นนางห้าม พระวอและพระตาไม่ยอมถวายและคิดว่าจะอยู่ในเมืองศรีสัตนาคนหุตอย่างไม่เป็นสุข จึงชวนสมัครพรรคพวกอพยพครอบครัวบ่าวไพร่จากเวียงจันทน์ ไปอยู่บ้านหินโงม เมืองหนองบัวลุ่มภู อันเคยเป็นเมืองของเจ้าปางคำบิดาของท่าน

พระวอและพระตานั้นเป็นข้าราชการที่ดี เอาใจใส่ในราชการและทุกข์สุขของราษฎร จึงเป็นที่รักใคร่นับถือ ราษฎรจึงพากันอพยพติดตามไปอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ความทราบถึงพระเจ้าสิริบุญสาร ก็คิดว่าพระวอและพระตาจะเป็นกบฎจึงเตรียมทัพมาตีเมืองหนองบัวลุ่มภู เมื่อพระวอและพระตาได้ทราบข่าวว่าทัพเวียงจันทน์จะยกมาตีจึงเตรียมป้องกันเมืองอย่างแข็งแรง สร้างกำแพงหินบนเขาภูพานไว้ป้องกันข้าศึก และตั้งชื่อเมืองใหม่ว่า "นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน" ประกาศตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นกับเวียงจันทน์ กองทัพเวียงจันทน์ของพระเจ้าสิริบุญสารยกทัพมาโจมตีต่อสู้กันอยู่ ถึง 3 ปี ก็ยังไม่สามารถตีเมืองได้

ระหว่างนั้นพระวอและพระตาส่งได้เครื่องบรรณาการไปขอความช่วยเหลือจากพม่า แต่พม่ากลับไปเข้าข้างเวียงจันทน์ยกทัพมาสมทบทัพเวียงจันทน์ตีทัพพระตาและพระวอ พระตาต้องตายในที่รบ ส่วนพระวอกับพวกตีฝ่าวงล้อมของข้าศึกไปอาศัยเจ้านครจำปาศักดิ์ และไปตั้งมั่นอยู่ที่ดอนมดแดงหรือจังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน

หลังจากหนีมาอยู่ที่ดอนมดแดง พระวอจึงได้มาขอขึ้นกับกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดให้พระวอกับพวกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ดอนมดแดงเป็นข้าขอบขัณฑสีมา แต่ภายหลังพระเจ้าสิริบุญสาร แต่งทัพมาล้อมจับพระวอและฆ่าเสีย ท้าวก่ำ บุตรพระวอ ท้าวคำผิ ท้าวทิดพรหม บุตรพระตา พาไพร่พลตีวงล้อมออกไปได้ และมีใบบอกไปยัง เมืองนครศรีธรรมราช เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้ากรุงธนบุรี และขอกำลังทัพมาช่วยเหลือ พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงขัดเคืองที่พระเจ้าสิริบุญสารดูหมิ่นมาทำร้ายข้าขอบขัณฑสีมา จึงโปรดให้เจ้าพระยาจักรีกับเจ้าพระยาสุรสีห์เป็นแม่ทัพยกไปเวียงจันทน์ จนสามารถตีเวียงจันทน์แตก ตั้งแต่นั้นมาเวียงจันทน์ หลวงพระบางและจำปาศักดิ์ ตกเป็นประเทศราชของไทยจนกระทั่งกลับคืนไปในสมัยรัชกาลที่ 5

ส่วนบ้านศรีฐานนั้นเชื่อกันว่าในขณะที่อพยพมามีชาวบ้านที่ชื่อ “ขุนศรี” มีฝีมือในการล่าสัตว์ โดยจะออกล่าสัตว์ตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณหนองนา ซึงมีสัตว์ป่าชุกชุม จึงได้ตั้งสร้างที่พักไว้บริเวณนั้นเพื่อเพื่อสะดวกแก่การล่าสัตว์ ต่อมามีชาวบ้านที่เห็นว่าบริเวณดังกล่าวเป็นที่อุดมสมบูรณืจึงได้อพยพตามมาเป็นจำนวนมากจนกลายเป็นหมู่บ้านใหม่ชื่อว่าบ้านศรีฐาน โดยมีคำว่า “ศรี” มาจากชื่อของขุนศรี และคำว่า “ฐาน” มาจากถิ่นฐานที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงกลายมาเป็นบ้านศรีฐานในปัจจุบัน

สภาพความเป็นอยู่ของบ้านศรีฐานในสมัยที่หลวงตาพวง สุขินทริโย ถือกำเนิดนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก ไม่ได้ทำไร่มันสำปะหลังหรือปลูกปอเช่นในปัจจุบัน ในสมัยก่อนชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างดี มีสัตว์ป่า ป่าไม้ พืชพรรณ ธัญญาหาร อุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันชาวบ้านศรีฐานยังดำรงชีวิตด้วยอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่มันสำปะหลัง หรือปลูกปอ และยังทำหมอนขิด ที่มีชื่อเสียง ส่งออกขายทั่วประเทศ เป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

ต้นตระกูลเดิมของหลวงตาพวง สุขินทริโย นับถือศาสนาพุทธมาแต่ดั้งเดิม โยมบิดา มารดา มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทำบุญตักบาตรหรือถวายภัตตาหารเป็นประจำทุกวันไม่ได้ขาด ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีมาโดยตลอด มีบุตรชายก็ต้องให้บวชพระเสียก่อนทุกคน ทั้งหลวงตาพวง สุขินทริโย และน้องชายคือหลวงปู่สรวง สิริปุญโญหลังจากบวชตามประเพณีแล้วได้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงครองสมณเพศมาจนถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น