หลวงตาพวง สุขินทริโย

วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

8. ออกธุดงค์กับพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร

ในพรรษาที่ 2 ที่บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดศรีฐานนั้น อายุถึงเกณฑ์ขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน สามเณรพวง ลุล่วงได้ไปรายงานตัวที่ อ.คำเขื่อนแก้ว จ.อุบลราชธานี ปีเดียวกันนั้นเองที่วัดป่าศรีฐานใน นอกจากนั้นพระอาจารย์สอ พระอาจารย์บุญช่วยแล้ว ยังมีพระอาจารย์สิงห์ทอง.ธัมมวโรที่มาอยู่จำพรรษาในวัดเดียวกัน ได้ช่วยสั่งสอนอบรมสามเณรและพระเณรต่างๆอีกแรง ด้วยพระอาจารย์สิงห์ทองท่านเป็นพระมีอารมณ์ขัน จึงมีพระภิกษุติดสอยห้อยตามท่านเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นก็คือ สามเณรพวง ลุล่วง

หลวงตาพวงเล่าว่า "ช่วงที่เป็นเณรพรรษาที่ 2 พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร ได้พาธุดงค์ไปนมัสการพระธาตุพนม ที่ จ.นครพนม คณะเดินทางประกอบด้วย พระอาจารย์สิงห์ทอง พระเพ็ง (ปัจจุบันลาสิกขาบท ยังมีชีวิตอยู่) สามเณรพวง และสามเณรขุน คนบ้านบ่อชะเนง อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ” “การเดินทางต้องเดินด้วยเท้า ผ่านดงบังอี่ อำเภอคำชะอี ผ่านภูเขาลำเนาไพรเต็มไปด้วยภยันตรายจากสิงสาราสัตว์ต่างๆ รอนแรมไปถึง 6 คืนกว่าจะถึงพระธาตุพนม ระหว่างทางก็ต้องแวะพักค้างคืนตามสำนักสงฆ์หรือถ้ำในป่า”

“เมื่อเดินทางไปถึงบ้านตากแดด อ.คำชะอี จ.อุบลราชธานี (ในขณะนั้น) เป็นเวลาค่ำพอดี จำเป็นต้องหาที่พักเพื่อค้างแรม พระอาจารย์สิงห์ทองและคณะได้สอบถามชาวบ้านว่ามีวัดอยู่บริเวณนี้หรือไม่ ชาวบ้านก็บอกว่ามีสำนักสงฆ์อยู่ในถ้ำบนภูทอก มีหลวงตาอยู่กับเณรเพียง 2 รูป พอจะไปพักอาศัยที่นั่นได้ พระอาจารย์สิงห์ทองจึงได้พาคณะไปขอพำนักที่สำนักสงฆ์บริเวณดังกล่าว หลวงตาเจ้าสำนักสงฆ์มิได้ขัดข้องประการใด จัดที่เสนาสนะให้คณะที่ร่วมเดินทางพักในถ้ำบนภูทอก ที่พักเป็นแคร่ไม้ไผ่ ห่างกันประมาณ 3-4 วา ตามจำนวนพระเณร”

“หลังจากที่เดินทางกันมาด้วยความเหน็ดเหนื่อย ทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว ก็เตรียมแยกย้ายกันจำวัดพักผ่อน เมื่อทุกรูปประจำเสนาสนะของตนเอง ก็ได้ยินเสียงงูใหญ่ คาดว่ายาวประมาณ 4-5 วา เสียงเหมือนเกร็ดงูสัมผัสกับไม้ดังเอี๊ยด เอี๊ยด ๆ มาตลอดทาง พระอาจารย์สิงห์ทองก็ตะโกนบอกว่า งู งู ให้เณรเร่งจุดคบไฟ เพราะสมัยก่อนไม่มีไฟฉาย เมื่อจุดคบไฟเสร็จกลับไม่พบอะไร จึงพากันแยกย้ายกันนอน

สักพักก็ได้ยินเสียงเหมือนงูเลื้อยมาอีกเป็นครั้งที่ 2 ผ่านไปทางเดินจงกรม พระอาจารย์สิงห์ทองจึงตะโกนบอกให้จุดไฟอีกครั้ง เมื่อจุดเสร็จก็ไม่พบอะไรอีก อาจารย์สิงห์ทองได้พิจารณาดูแล้วจึงบอกว่า ไม่ใช่งูหรอก จริง ๆ แล้วเป็นพระภูมิเจ้าที่ ท่านมาถามข่าวถามคราว พวกเราที่เดินทางมาพักอยู่บริเวณนี้ พระอาจารย์สิงห์ทองจึงเตือนให้ทุกคนไหว้พระสวดมนต์ แผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้ พักอยู่ที่นั้นสองคืน มิได้ยินเสียงเช่นนั้นอีกเลย”

จากนั้นเดินทางต่ออีกสองวัน แวะพักที่บ้านดงมอญ อ.มุกดาหาร จ.อุบลราชธานี (ในขณะนั้น) และบ้านต้นแหน อ.นาแก จ. นครพนม รุ่งขึ้นถึงพระธาตุพนม พำนักที่วัดเกาะแก้ว อ.พระธาตุพนม อยู่ที่นั่นประมาณหนึ่งสัปดาห์ จึงเดินทางกลับ เส้นทางที่ใช้ในการเดินทางกลับนั้นใช้เส้นทางเลียบตามฝั่งแม่น้ำโขง ค่ำที่ไหนก็นอนที่นั่นจนกระทั่งถึง อ.มุกดาหาร มีรถประจำทางจึงโดยสารรถประจำทางมาจนถึงวัดป่าศรีฐานใน

พระอาจารย์สิงห์ทอง หลังจากที่อยู่จำพรรษาที่วัดป่าศรีฐานใน สักพักก็ได้เดินทางไปศึกษาปฏิบัติธรรมร่วมกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตตโต ที่วัดป่าหนองผือจนกระทั่งหลวงปู่มั่นมรณภาพ ท่านจึงได้ติดตามหลวงตามหาบัว ไปในที่ต่างๆ เช่น บ้านห้วยทราย จ.จันทบุรี และวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานีตามลำดับ ต่อมาท่านได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดป่าแก้วชุมพล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร และอยู่ที่นั่นจวบจนวาระสุดท้าย ท่านมรณภาพด้วยเครื่องบินตกที่ดอนเมืองพร้อม ๆ กับครูบาอาจารย์อีกหลาย ๆ องค์ ได้แก่ พระอาจารย์จวน กุลเสฏโฐ พระอาจารย์วัน อุตตโม เป็นต้น เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2523

พระอาจารย์สิงห์ทอง มีศิษย์ที่ท่านได้เคยสั่งสอนอบรม จนกระทั่งเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา และเป็นนักปฏิบัติที่ได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาให้เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางในเวลานี้อีกคนหนึ่ง ก็คือ คุณหมออมรา มลิลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น