หลวงตาพวง สุขินทริโย

วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

5. ติดตามหลวงปู่เสาร์ไปนครจำปาศักดิ์

ระหว่างที่ ด. ช.พวง ลุล่วง ได้พำนักอาศัยอยู่กับหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์สอ สุมังคโล ที่วัดดอนธาตุนั้น เป็นช่วงที่หลวงปู่เสาร์มีพรรษามาก (อายุ 82 ปี) สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง แต่ด้วยความกตัญญูต่อครูบาอาจารย์ของหลวงปู่เสาร์ ท่านตั้งใจจะไปกราบอัฐิและบำเพ็ญกุศลให้กับอุปัชฌาย์ของท่าน คือ พระครูทา โชติปาโล ภายหลังได้รับสมณศักดิ์เป็น พระครูสีทันดรคณาจารย์ เจ้าคณะใหญ่แห่งศรีทันดร เขตเมืองโขง แขวงนครจำปาศักดิ์

พระครูสีทันดรคณาจารย์ ท่านเป็นชาวลาว แต่ได้มาเรียนหนังสือและพำนักอยู่ที่ จ. อุบลราชธานี ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และได้บวชให้กับหลวงปู่เสาร์ หลังจากนั้นท่านได้กลับไปจำพรรษาบ้านเดิมของท่านที่อำเภอท่าเปลือย แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาว หลังจากนั้นไม่ได้ติดต่อหรือไปมาหาสู่กัน เพราะเป็นช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองในเวลานั้นไม่ปกติ ไม่สามารถข้ามฝั่งไปมาหาสู่กันได้เช่นเดิม จวบจนพระครูสีทันดรคณาจารย์มรณภาพ หลวงปู่เสาร์ก็ไม่ได้มีโอกาสได้ไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับอาจารย์ของท่าน จนกระทั่งสถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น ประเทศไทยได้แขวงนครจำปาศักดิ์มาเป็นของไทย มีข้าราชการตลอดจนทหารเข้าไปดูแล มีการคมนาคมไปมาหาสู่กันตลอด หลวงปู่เสาร์จึงปรารถนาที่จะไปกราบอัฐิและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้อุปัชฌาย์ เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์

พระอาจารย์สอ สุมังคโล พร้อมด้วยเด็กชายพวง ลุล่วง จึงขอติดตามคณะหลวงปู่เสาร์ไปนครจำปาศักดิ์ในครั้งนี้ด้วย การเดินทางครั้งนี้เริ่มออกเดินทางประมาณเดือนธันวาคม พ.ศ. 2485 ประกอบด้วย 3 ขบวน คือ

1) คณะใหญ่หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ประกอบด้วยหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่ดี ฉันโน พระอาจารย์ทอง อโสโก พระอาจารย์กงแก้ว ขันติโก (ขณะนี้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าหนองสูง จ. มุกดาหาร) พระอาจารย์สอ สุมังคโล พระอาจารย์สมัย พระอาจารย์บัวพา ปัญญาภาโส พระอาจารย์บุญมี (อยู่ที่จ.กาฬสินธุ์) พระละมัย สามเณรพรหมา รวมทั้งเด็กชายพวง ลุล่วง ในวัย 14 ปี ซึ่งเป็นสังฆการี (ศิษย์วัด) นายกร อายุ 18 ปี นายบุญมี ไทรงาม อายุ 15 ปี จากบ้านศรีฐาน นายอำนวย หรือ พระครูอำนวยโอภาสธรรมภาณ และนายเจริญ จากบ้านท่าฆ้องเหล็ก ผู้เป็นศิษย์วัดคอยอุปัฏฐากและเป็นผู้เก็บรักษาบาตรของท่านพระอาจารย์เสาร์ และยังมีแม่ชีผุย (มารดาของนายวิชิต โกศัลวิตร สามีของคุณหญิงตุ่น โกศัลวิตร) ร่วมเดินทางไปส่ง เมื่อคณะนี้เดินทางไปถึงบ้านเมืองเก่า หลวงปู่เสาร์ กันตสีโลได้ให้พระอาจารย์ทอง อโสโก และสามเณรติดตามอีกหนึ่งรูปลงที่นั่น พร้อมกับมอบมีดโต้ให้ 1 เล่ม และสั่งพระอาจารย์ทองว่าจุดนี้เป็นจุดหน้าด่าน คอยส่งข่าว ฟังข่าวคราวต่างๆ เมื่อไปท่ใดจะส่งข่าวมาบอก

2) คณะพระอาจารย์ทองรัตน์ กันตสีโล พระอาจารย์ กิ ธัมมุตตโม (ปีนั้นจำพรรษาที่เมืองยศ หรือจ.ยโสธร ในปัจจุบัน) และพระอาจารย์บุญมาก ฐิตติปุญโญ คณะนี้ได้เดินทางล่วงหน้าไปก่อนคณะใหญ่แล้ว โดยไปเตรียมการเพื่อรอรับคณะใหญ่ที่เมืองจำปาศักดิ์

คณะพระอาจารย์เนียม โชติโกและพระอาจารย์เจี๊ยะ จุนโท ทั้งสองท่านเป็น พระอาคันตุกะที่พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้ส่งมาเพื่อเยี่ยมเยีนอาการของหลวงปู่เสาร์ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่านด้วยความเป็นห่วง โดยมีพระอาจารย์บุญเพ็ง ผู้เป็นหลานหลวงปู่เสาร์และพระอาจารย์แก้ว พร้อมสามเณรและผ้าขาวผู้ติดตาม คณะนี้ได้ออกเดินธุดงค์มุ่งหน้าไปไปยัง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี โดยเดินทางด้วยเท้าเลียบไปตามฝั่งแม่น้ำมูล ซึ่งใช้เวลาเดินทางเกือบค่อนวันจึงถึงบ้านด่าน อ.โขงเจียม ตรงบริเวณที่ปากแม่น้ำมูล บรรจบกับแม่น้ำโขง คณะได้พากันค้างแรมบนภูเขาบริเวณนั้น ท่านพระอาจารย์เจี๊ยะ เล่าว่า บริแวณที่พักนั้นเป็นป่าใหญ่มาก มีสัตว์ป่ามาก ท่านยังได้พบกับปลาในแม่น้ำโขงชนิดหนึ่งที่ร้องได้เหมือนวัว ชาวบ้านละแวกนั้นเกรงกลัวต่อสถานที่ดังกล่าว ใครเข้าไปตัดไม้บริเวณนั้นมักจะมีอันเป็นไป

คณะท่านพักอยู่บริเวณดังกล่าวหลายวัน จนกระทั่งโยมตำตันมานิมนต์ลงเรือล่องแม่น้ำโขงไปส่งจนถึงบ้านเมืองเก่า (อยู่ตรงข้ามเมืองปากเซ) จากนั้นก็พากันขึ้นบก เดินทางต่อไปยังนครจำปาศักดิ์ ระหว่างนั้นคณะท่านต้องพักแรมค้างคืนระหว่างทางอีก 1 คืน จึงเดินทางไปถึงวัดอมาตยาราม เพื่อสมทบกับคณะของหลวงปู่เสาร์ เมื่อไปถึงได้ทราบข่าวจากพระครูนาคบุรี ศรีคณาภิบาล (พระมหาคำม้าว อิงควโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสว่าคณะของหลวงปู่เสาร์ได้ลงเรือไปเมืองโขงได้หลายวันแล้ว คณะพระอาจารย์เนียม และพระอาจารย์เจี๊ยะจึงได้เดินทางไปสมทบกับคณะพระอาจารย์ทองรัตน์ ที่พำนักอยู่ที่ศาลาใหญ่ ริมสระน้ำโบราณของวัดปราสาทภู ปราสาทหินเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงของนครจำปาศักดิ์ ซึ่งอยู่บนเขาห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร

3) พระอาจารย์ทองรัตน์ได้แจ้งให้คณะทราบว่า หลวงปู่เสาร์ได้สั่งไว้ว่าจะกลับมาทำบุญที่วันมาฆะบูชา เดือนสาม ที่นี่ ให้เตรียมหรือไปรับกลับมาด้วย คณะคณะพระอาจารย์เนียมและพระอาจารย์เจี๊ยะจึงอยู่รอพระอาจารย์เสาร์ที่นี่ แต่เนื่องจากสถานที่บริเวณนั้นคับแคบ พระอาจารย์ทองรัตน์จึงให้พระอาจารย์บุญเพ็งพาคณะไปพักที่บ้านห้วยสระหัวร่วมกับพระอาจารย์กิ ธัมมุตตโต

วัดอมาตยารามหรือวัดศิริอำมาตย์ แห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญ ตั้งอยู่บ้านอำมาตย์ นครจำปาศักดิ์ มีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ สร้างในสมัยท่านท้าวเทวธัมมี (ม้าว) และจ้าวยุติธรรมธร (เจ้านครจำปาศักดิ์) พร้อมด้วยท้าวเพี้ย กรมการเมือง ร่วมใจกันบูรณะขึ้นเป็นวัดในสายธรรมยุต วัดแรกของแขวงจำปาศักดิ์ ครั้งหนึ่งเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์เคยมาปกครองคณะสงฆ์เมืองจำปาศักดิ์ เป็นเจ้าคณะสังฆปาโมกข์ นครจำปาศักดิ์และยังได้เป็นเจ้าอาวาสวัดอำมาตย์แห่งนี้วย

คณะของหลวงปู่เสาร์ เริ่มออกเดินทางจากวัดดอนธาตุ ไปทางช่องเม็ก อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี โดยรถประจำทาง ถนนหนทางสมัยนั้นยังไม่ดีนัก รถยนต์ต้องวิ่งไต่ตามตลิ่งริมแม่น้ำโขง ส่วนอีกฝั่งจะเป็นภูเขาที่เรียกว่า ภูมะโรง หนทางเต็มไปด้วยความทุรกันดารยากลำบาก

เมื่อถึงนครนครจำปาศักดิ์ คณะได้พักอยู่ที่วัดศิริอำมาตย์ และได้เดินทางต่อโดยเรือไฟล่องลงตามแม่น้ำโขง ไปยังเกาะดอนเจดีย์ที่ตั้งอยู่กลางแม่น้ำโขง โดยใช้เวลาทั้งวัน เกาะดอนเจดีย์เป็นเกาะใหญ่อยู่กลางแม่น้ำโขง มีชาวบ้านอาศัยอยู่ถึง 2 หมู่บ้าน มีวัดที่พระครูสีทันดรคณาจารย์ อุปัชฌาย์ของพระอาจารย์เสาร์จำพรรษาอยู่และมรณภาพที่นั่น

เมื่อเดินทางไปถึงก็พบเจดีย์เล็ก ๆ อันเป็นที่เก็บอัฐิของพระครูสีทันดรคณาจารย์ มีพื้นที่ประมาณ 20 ตารางเมตร ตั้งอยู่กลางทุ่งนาห่างจากวัดประมาณ 200 เมตร หลวงปู่เสาร์ก็ได้พาญาติโยมแถบนั้นมาร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้อุปัชฌาย์ของท่านสมดังเจตนา ในวันที่ทำบุญถวายแด่พระอุปัชฌาย์ของท่านนั้น หลวงปู่เสาร์ได้เล่าความประสงค์ของท่านให้ญาติโยมทั้งได้ทราบ ในการบำเพ็ญกุศลครั้งนี้มีพระสงฆ์ที่นิมนต์มาจำนวนถึง 40 รูป รับถวายปัจจัยรูปละ 1 บาท ครบจำนวน 40 บาท ซึ่งปัจจัยจำนวนนี้หลวงปู่เสาร์ท่านได้ถวายด้วยปัจจัยของท่านเองทั้งหมด ส่วนญาติโยมก็ชาวเมืองโขง เมืองดอนฮีธาตุ ก็ได้ร่วมจัดเตรียมภัตตาหารมาถวายพระภิกษุสามเณรทั้งหมด

หลวงปู่เสาร์และคณะพำนักอยู่ที่เกาะดอนเจดีย์ประมาณหนึ่งสัปดาห์ ก็ได้ออกเดินทางต่อโดยนั่งเรือแจวขนาดนั่งได้ 6-7 คน มีฝีพายสองคนอยู่หัวเรือและท้ายเรือ ขนสัมภาระต่างๆลงเรือหลายลำ พาล่องแม่น้ำโขงไปยังแก่งหลี่ผี ซึ่งเป็นสถานที่ที่อยู่กลางแม่น้ำโขง มีลักษณะเหมือนภูเขาลูกหนึ่งขวางกั้นแม่น้ำโขง แม่น้ำทั้งสายไหลข้ามภูเขาไปด้านหลังตกลงเป็นน้ำตกขนาดความสูง 30-40 เมตร มีเกาะแก่งเป็นร้อย ๆ แห่ง ชาวบ้านเรียกว่าหลี่ผี ซึ่งแปลว่าที่ดักปลาของภูติผี บริเวณดังกล่าวเวลาพูดอะไรจะไม่ได้ยินเพราะเสียงน้ำตกดังมาก ถ้าหากจะพูดกันต้องพูดกันใกล้ๆจึงจะได้ยิน

สมัยที่ฝรั่งเศสปกครองนั้น ยังไม่มีถนนหนทางที่สะดวกและไม่สามารถเดินทางผ่านประเทศไทยได้ การคมนาคมติดต่อจะต้องขนของหรือสัมภาระโดยเรือใหญ่จากประเทศกัมพูชามาจอดที่ท่าเรือหลี่ผี แล้วจะต้องใช้รถไฟขนถ่ายสัมภาระต่อไปยังแขวงสุวรรณเขตหรือปากเซ มีรถไฟอยู่สองขบวนสำหรับส่งของ ส่วนรถยนต์ไม่ค่อยมี มีแต่สามล้อ สำหรับโดยสาร

ขณะนั้นหลวงปู่เสาร์มีอายุได้ 82 ปี สุขภาพไม่แข็งแรงอยู่แล้ว เริ่มอาพาธมากขึ้น มีอาการเหนื่อย ฉันอาหารไม่ได้ คณะลูกศิษย์จึงได้พาท่านกลับมายังอำเภอท่าเปลือย ซึ่งมีแพทย์ไทยรวมทั้งอุปกรณ์การแพทย์ที่พร้อมกว่า เมื่อถึงอำเภอท่าเปลือย หลวงปู่เสาร์ก็ได้มอบหมายให้พระอาจารย์ดี ฉันโน เป็นผู้ไปจัดหาสถานที่ปักกลดบริเวณเชิงเขา เพื่อจะให้คณะได้อาศัย รุกขมูล บำเพ็ญเพียรภาวนาในบริเวณนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น