หลวงตาพวง สุขินทริโย

วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

24 ไปอยู่วัดศรีธรรมาราม ยโสธร

 ในพรรษาที่ 21 ของท่านประมาณปี พ.ศ.2511 ขณะนั้นพระอาจารย์พวง สุขินทริโย เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าศรีฐานใน อ.ป่าติ่ว จ. อุบลราชธานี ขณะเดียวกันที่วัดศรีธรรมาราม อ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี ตำแหน่งเจ้าอาวาสได้ว่างลง ยังไม่มีผู้ใดที่เหมาะสมดำรงตำแหน่ง เนื่องจากวัดศรีธรรมารามนี้เป็นวัดสำคัญ เป็นศูนย์กลางปริยัติและปฏิบัติของสายธรรมยุตินิกาย ของจังหวัดอุบลราชธานีตอนบน จะเห็นได้ว่ามีครูบาอาจารย์องค์สำคัญหลายองค์มาอุปสมบทที่นี่ อาทิ หลวงปู่ดี ฉันโน หลวงปู่ชอบ ฐานสโม พระอาจารย์วัน อุตตโม พระอาจารย์บุญมี ปริปุณโณ เป็นต้น

คณะสงฆ์จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วยประชาชนชาวอำเภอยโสธร นำโดยพระเทพกวี (นัด เสนโก) เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานีในขณะนั้น จึงได้ไปอารธนานิมนต์พระอาจารย์พวง สุขินทริโย มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีธรรมาราม พระอาจารย์พวง สุขินทริโย ได้พิจารณาเห็นว่าวัดศรีธรรมารามเป็นวัดสำคัญของ อ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี ในขณะนั้นจำเป็นต้องมีพระผู้ใหญ่เป็นหลักให้กับพระเณรและญาติโยมจึงได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดศรีธรรมาราม อ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี พร้อมทั้งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลยโสธร ปกครองดูแลคณะสงฆ์อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

หลวงตาพวงท่านจึงได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดศรีธรรมารามตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

วัดศรีธรรมารามแห่งนี้ ตั้งอยู่ติดแม่น้ำชี ทางทิศใต้สุดของเมืองยโสธร เดิมชาวบ้านเรียกชื่อวัดกันหลายอย่าง เช่น วัดท่าชี วัดท่าแขก วัดนอก วัดสร่างโศรก วัดอโศการาม เป็นต้น ตามคำจารึกจากแผ่นทองคำที่ขุดได้ วัดศรีธรรมารามเดิมมีชื่อเรียกว่า “วัดธรรมหายโศรก” สร้างขึ้น พ.ศ. 2461 โดยพระสุนทรราชวงศา (ฝ่ายบุตร) เจ้าเมืองยโสธร ขณะนั้น

ต่อมา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จตรวจราชการอีสานผ่านมาถึงเมืองยโสธร ได้เสด็จเยี่ยมวัดนี้และทรงสอบถามประวัติควาเป็นมาของวัดนี้ ทรงทราบว่าวัดนี้มาจากสายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงเปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น “วัดอโศการาม”

ต่อมา สมเด็จมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาวโรรส ได้ทรงดำริคิดถึงชื่อวัดนี้ต่อเจ้าคณะมณฑล-นครราชสีมา คือเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) ทรงทราบด้วยวิจารณญาณแล้ว ทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดสร่างโศก” ต่อมาได้เปลี่ยนนามวัดใหม่อีกว่า “วัดศรีธรรมาราม” มาจนปัจจุบัน


หลังจากนั้นพระอาจารย์พวง ก็ได้พัฒนาวัดศรีธรรมมารามให้มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาตามลำดับ

o ปี พ.ศ. 2512 พระพวง สุขินทริโย ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นตรี ที่พระครูอมรวิสุทธิ์ และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลยโสธร

o ปี พ.ศ. 2516 ท่านตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดยโสธร เนื่องจาก อ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี ถูกยกระดับขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร พร้อมกันนี้ในปี 2517 ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นชั้นราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสุนทรธรรมภาณ

o ปี พ.ศ. 2524 หลังจากซ่อมแซมพระอุโบสถวัดศรีธรรมารามเป็นที่เรียบร้อย ท่านได้ออกไปจำพรรษาที่วัดวิโสธนาจารย์ (วัดกิโลเมตรที่ 7) เป็นเวลา 1 พรรษา หลังจากนั้นก็กลับมาจำพรรษาที่วัดศรีธรรมารามตามเดิม

o ปี พ.ศ. 2528 วัดศรีธรรมารามได้รับยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง

o ปี พ.ศ. 2533 วัดศรีธรรมารามได้รับการยกระดับเป็นพระอารามหลวง ชนิดสามัญ

o ปี พ.ศ. 2537 ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชธรรมสุธี

o ปี พ.ศ. 2542 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะภาค 10

o ปี พ.ศ. 2544 ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพสังวรญาณ (วิ)

หลวงตาพวง สุขินทริโย ท่านได้นำความเจริญมาสู่ศรีธรรมาราม จากเดิมมีที่ดินเพียง 3 ไร่ ปัจจุบันมีที่ดินกว่า 100 ไร่ ได้ก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆมากมาย อาทิ สร้างหอไตร เมรุ กุฏิพระสงฆ์ จำนวน 33 หลัง ถนนคอนกรีตภายในวัด บูรณะพระอุโบสถ บูรณะศาลาการเปรียญ บูรณะหอไตร เป็นต้น แม้ระหว่างที่ท่านอาพาธ ท่านก็ยังเป็นห่วงวัดศรีธรรมารามได้มอบหมายให้ลูกศิษย์ ลูกหา ช่วยกันบูรณะวัดศรีธรรมารามครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นบูรณะหลังคาโบสถ์ใหม่ ทาสีอาคารต่างๆ ซ่อมแซมกุฏิ จนเป็นที่เรียบร้อย อีกทั้งยังให้มีการวบรวมประวัติวัดศรีธรรมารามให้เป็นหมวดเป็นหมู่ อีกด้วย

นอกจากนั้นหลวงตาพวง สุขินทริโย ท่านยังมีอุบายพัฒนาจิตใจชาวเมืองยโสธรเพื่อให้เกิดความเลื่อมในศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยทางหากวัดทางสายปฏิบัติของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เช่น หลวงปู่แหวน สุจินโน หลวงปู่ขาว หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ชอบ ฐานสโม องค์ใดจัดงาน หลวงตาพวงท่านก็จะชวนญาติโยมชาวยโสธรไปร่วมงานไม่ว่าไกลหรือใกล้ก็จะไป

วัตถุประสงค์ดังกล่าก็เพื่อให้ญาติโยมได้เห็นปฏิปทา ข้อวัตรปฏิบัติของครูบาอาจารย์ ด้วยเหตุดังกล่าวชาวเมืองยโสธรจึงเกิดความเลื่อมในศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้นเรื่อย ๆ ชาวบ้านก็เข้าวัด ปฏิบัติธรรม ทำบุญ สร้างกุศล มากขึ้น ส่งผลให้เกิดความสงบสุขร่มเย็นในจังหวัดยโสธร นี่เป็นกุศโลบายการพัฒนาจิตใจที่แยบยลยิ่งนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น