หลวงตาพวง สุขินทริโย

วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

16. หลวงปู่มั่นมรณภาพ

ช่วงออกพรรษาปลายๆ ประมาณเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2492 อันเป็นพรรษาสุดท้ายของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านมีอาการไข้ไอเรื้อรังมาตลอด เมื่อเขาสู่ฤดูหนาว อาการของท่านมีแต่ทรงกับทรุด ครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่อุปัฏฐากท่านก็พยายามอย่างเต็มความสามารถที่จะเยียวยารักษาท่าน ท่านได้บอกให้ศิษย์ทั้งหลายให้ทราบว่า การเจ็บป่วยของท่านครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ มีเพียงแต่ลมหายใจที่จะรอวันตายไปเท่านั้น เช่นเดียวกับไม้ที่ตายยืนต้น แม้จะรดน้ำพรวนดินเพื่อให้ผลิดอกออกใบ ก็ไม่มีทางเป็นไปได้ รออยู่พอถึงวันโค่นล้มลงจมดินเท่านั้น

อาการอาพาธของหลวงปู่มั่นเริ่มหนักขึ้นเป็นลำดับ พระภิกษุสามเณรในวัด ตลอดจนอุบาสกอุบาสิกาไม่ได้พากันนิ่งนอนใจ จึงได้จัดเวรคอยดูแลหลวงปู่มั่นบนกุฏิของท่าน 2 รูป และใต้ถุนกุฏิ 2 รูปมิได้ขาด ในช่วงนี้เองพระพวงก็ได้สลับผลัดเปลี่ยนกับพระภิกษุรูปอื่นๆ คอยปรนนิบัติหลวงปู่มั่นโดยตลอด

พอออกพรรษา ครูบาอาจารย์พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ในที่ต่าง ๆ ก็ทยอยมาเยี่ยมท่านมากขึ้นเป็นลำดับ อาการของท่านก็หนักเข้าไปทุกวัน ศิษยานุศิษย์รุ่นอาวุโสอาทิ หลวงตามหาบัว หลวงปู่กงมา หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่เทศน์ หลวงปู่อ่อน ได้เรียกประชุมบรรดาศิษย์ทั้งหลาย เพื่อเตือนให้ทราบถึงอาการของท่าน และแจ้งให้ทราบว่าหลวงปู่มั่น ท่านได้ดำริที่จะให้นำตัวท่านไปที่สกลนคร ไม่อยากมรณภาพที่นี่ เพราะจะทำให้บรรดาสัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลายที่นี่ต้องตายไปด้วย เนื่องจากจะต้องมีคนจำนวนมากมาร่วมงาน จะต้องฆ่าสัตว์เป็นอาหาร

เดิมทีเดียวบรรดาญาติโยมบ้านหนองผือมีความประสงค์ว่าจะให้ท่านมรณภาพที่นี่ พวกเขาจะเป็นผู้จัดการศพเอง ถึงแม้ว่าพวกเขาจะยากจนเพียงไรก็ตาม แต่ด้วยความเคารพในหลวงปู่มั่นจึงได้ปฏิบัติตามคำสั่งของหลวงปู่มั่นแต่โดยดี

บรรดาญาติโยมก็ได้ช่วยกันเตรียมแคร่เพื่อหามท่านจากวัดป่าบ้านหนองผือไปสกลนคร โดยได้แวะพักระหว่างทางที่วัดป่าดงภู่ เป็นเวลา 9 วัน บรรดาญาติโยมในจังหวัดสกลนคร อาราธนานิมนต์ท่านเดินทางต่อ ก่อนเดินทางได้นำแพทย์ไปฉีดยาให้หลวงปู่มั่นเพื่อระงับเวทนา เมื่อฉีดยาเสร็จก็นำท่านขึ้นรถของแขวงการทางไปต่อยังวัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร ระหว่างการเดินทางท่านไม่รู้สึกตัวเลย จนกระทั่งประมาณ เที่ยงคืนคณะก็ได้เดินทางถึงวัดป่าสุทธาวาส

เมื่อถึงวัดป่าสุทธาวาสได้นำท่านขึ้นกุฏิ โดยมี พระอาจารย์หล้า พระอาจารย์วัน พระอาจารย์ทองคำ คอยดูแลอย่างใกล้ชิด เวลาประมาณ 01:00 น. หลวงปู่มั่นท่านเริ่มรู้สึกตัว พยายามพูดออกเสียง แต่ได้เพียง อือๆ แล้วก็โบกมือเป็นสัญญาณ แต่ไม่มีใครทราบว่าท่านประสงค์สิ่งใด สามเณรรูปหนึ่งเห็นท่าอาการไม่ดี จึงให้สามเณรอีกรูปไปนิมนตร์พระเถระทุกรูป มีเจ้าคุณจูม พระอาจารย์เทศน์ พระอาจารย์ฝั้น เป็นต้นมาเต็มกุฏิ

จนกระทั่งเวลาประมาณ 02:00 นาฬิกา (ตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน 2492) ท่านก็มรณภาพอย่างสงบ ยังความโศกเศร้าเสียใจของบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลายทั้งพระและฆราวาส นับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของพุทธศาสนิกชนไทย

พระพวง สุขินทริโย ติดตามคณะไปด้วย ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกับพระรูปอื่นๆในการดูแลหลวงปู่มั่น ตลอดการเดินทางจวบจนวาระสุดท้ายของหลวงปู่ นับเป็นอีกครั้งในชีวิตของพระพวง สุขินทริโย ที่อยู่ในช่วงเหตุการณ์สำคัญของพ่อมีครูอาจารย์ มั่น ภูริทัตโต พระเถรานุเถระที่ยิ่งใหญ่อีกหนึ่งองค์ในยุคกึ่งพุทธกาล

ส่วนงานพระราชทานเพลิงศพองค์หลวงปูมั่น พระผู้ใหญ่ ตลอดจนข้าราชการ พี่น้องประชาชนได้ประชุมตกลงกันเห็นว่า จะถวายการฌาปณกิจศพของท่านในเดือนสามข้างขึ้น โดยมีท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และได้ถวายพระเพลิงศพหลวงปู่มั่น ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 3 พ.ศ. 2493 ประมาณ เที่ยงคืน พอเช้าวันรุ่งขึ้น 14 ค่ำ ก็เป็นวันเก็บอัฐิองค์ท่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น